กรุงเทพฯ--5 พ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อ เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย ได้แก่ โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคระบบหายใจผิดปกติเรื้อรัง โรคเหล่านี้จะทำให้สมรรถภาพในการทำงานและคุณภาพชีวิตด้อยลง มีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจาก 3 องค์ประกอบ คือ ความเสื่อมของร่างกาย พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เป็นโรคจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ไม่ถูกต้อง อาจมีปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่ก่อโรค หรือร่วมกับอายุ ที่มากขึ้น หรือจากพันธุกรรม การปรับเปลี่ยนปัจจัยแวดล้อมจึงสามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้
จากรายงานสถิติสาธารณสุข พ.ศ.2546-2556 อัตราการป่วยและตายด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคเบาหวาน จากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บ ในประชากรไทย พ.ศ.2552 พบว่าในกลุ่มวัยทำงานอายุ 15-59 ปี ในภาพรวมเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อในสัดส่วน ที่สูงสุด รองลงมา ได้แก่ กลุ่มการบาดเจ็บ และกลุ่มโรคติดเชื้อ เมื่อแยกตามช่วงอายุพบว่ากลุ่มวัยทำงานตอนต้นอายุ 15-29 ปี เพศชายเสียชีวิตจากการบาดเจ็บมากที่สุด เพศหญิงเสียชีวิตจาก 3 กลุ่มสาเหตุในสัดส่วนเท่าๆ กัน และเมื่ออายุสูงขึ้นทั้งสองเพศเสียชีวิต จากกลุ่มโรคไม่ติดต่อในสัดส่วนที่สูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ข้อมูลการเฝ้าระวังโรค จาก การประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2546-2552 ของสำนักระบาดวิทยา พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เฉลี่ย 4,378 รายต่อปี กลุ่มโรคที่มีการรายงานผู้ป่วยมากตามลำดับ ได้แก่ กลุ่มโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ ร้อยละ 45.0 กลุ่มพิษจากสัตว์ ร้อยละ 24.5 กลุ่มโรคผิวหนัง ร้อยละ 20.3 กลุ่มโรคปอดและทางเดินหายใจ ร้อยละ 2.7 และกลุ่มสารกำจัดแมลงศัตรูพืช ร้อยละ 1.6 โดยมีแนวโน้มการรายงานจำนวนผู้ป่วยของ ในแต่ละกลุ่มโรคเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในปี พ.ศ.2558 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดให้มี คลินิกบริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน ในกลุ่มวัยทำงานแบบบูรณาการตามมาตรการหลัก 3 ด้าน คือ การสร้างเสริมสุขภาพ การลดพฤติกรรมเสี่ยง และการค้นหาผู้ป่วยเพื่อให้การดูแลรักษา ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ประชาชนสามารถไปใช้บริการคลินิคโรคจากการทำงาน ได้ ณ โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปของรัฐทุกแห่ง
ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันตนเองจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เริ่มได้จากตัวเรา คือการปรับให้มีพฤติกรรมการบริโภคที่ดีและถูกต้อง ไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพ มีกิจกรรมออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่ใช้สารเสพติด ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่เครียด และมีจิตแจ่มใส วิถีการดำรงชีวิตจะต้องมีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ จึงจะทำให้การป้องกันโรคไม่ติดต่อมีประสิทธิภาพและเกิดผลสูงสุด และจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในวัยทำงาน ปี 2558 พบว่ากลุ่มเป้าหมายทั้งเขตเมืองและชนบทมีความรู้ ความเข้าใจ ต่อการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในวัยทำงานไปในทิศทางเดี่ยวกัน คือ รู้จักโรคไม่ติดต่อเรื้อรังว่าเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม ร้อยละ59.0 และบอกว่าสาเหตุมาจากการกินอาหาร รสหวาน มัน เค็มร้อยละ41.2 จากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ39.2 สำหรับพฤติกรรมเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารหวานมันเค็ม อยู่ในเกณฑ์ดี แต่พฤติกรรมการออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวันอย่างน้อยกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ พบว่าเขตเมืองมีการออกกำลังกายตามเกณฑ์เพียงร้อยละ 30.4และชนบท ร้อยละ 69.6 ส่วนภาวะเครียด พบว่าในเขตเมือง จะมีภาวะเครียดร้อยละ 73.3 ซึ่งมากกว่าในเขตชนบทที่มีเพียงร้อยละ26.7 สำหรับการตรวจคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่วนใหญ่ ไม่เคยได้รับการตรวจคัดกรอง และร้อยละ73.0มีความสนใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง โดยพฤติกรรมที่ต้องการเปลี่ยนได้แก่ การลดรับประทานอาหาร หวาน มัน เค็ม และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422.