กรุงเทพฯ--5 พ.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “นายกรัฐมนตรีตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 – 30 เมษายน 2558 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,261 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558 อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และ มีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 172) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.40 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เชื่อมั่นและไว้วางใจในตัว ส.ส. ซึ่งเป็น ตัวแทนที่ประชาชนได้เลือกเข้ามา ดูเป็นระบบ ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และรวดเร็วดี ขณะที่ ร้อยละ 36.64 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ต้องการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง และอาจมีการเล่นพรรคเล่นพวกเกิดขึ้นในการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร และร้อยละ 3.96 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
ความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่เปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. (นายกคนนอก) แต่ต้องได้รับเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน ส.ส. (มาตรา 172) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.98 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่มีประสบการณ์เพียงพอในการบริหารประเทศ นายกที่มาจาก ส.ส. น่าจะมีประสบการณ์และทำงานได้ดีกว่า ควรมาจากการเลือกตั้งน่าจะดีกว่า ขณะที่ ร้อยละ 45.76 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นช่องทางเลือกอีกช่องทางหนึ่ง ในการสรรหานายกรัฐมนตรี ควรเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาบริหารประเทศบ้าง ซึ่งน่าจะทำงานได้ดีกว่านายกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และร้อยละ 6.26 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อ เดือนธันวาคม ปี 2557 ที่มีผู้ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 63.36 และผู้ที่เห็นด้วย ร้อยละ 34.58 แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สัดส่วนของผู้ที่เห็นด้วยเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้อธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องเปิดช่องไว้สำหรับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจาก ส.ส.
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่กำหนดให้นายกฯ อาจเสนอขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรและหากได้รับความไว้วางใจ สภาก็จะถูกตัดสิทธิในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีไปโดยอัตโนมัติ ตลอดสมัยประชุม (มาตรา 181) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.19 ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการลดอำนาจและบทบาทหน้าที่ของสภาฯ มากจนเกินไป อาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการตรวจสอบการทำงาน ควรเปิดอภิปรายเป็นระยะ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลการทำงานของรัฐบาล ขณะที่ ร้อยละ 31.64 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้ไม่ต้องเปิดการอภิปรายหลายรอบ ลดค่าใช้จ่าย เวลา และความวุ่นวายที่เกิดจากการกระทบกระทั่งกันในสภาฯ และร้อยละ 21.17 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่ให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รัฐมนตรี และคัดเลือกกันเองเพื่อหาบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง (มาตรา 184) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.58 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่เป็นประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น หากมีการเลือกกันเอง กังวลว่าจะเกิดความไม่โปร่งใส เลือกแต่พรรคพวกของตนเองเข้ามา ขณะที่ ร้อยละ 43.62 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ บางครั้ง มีเหตุจำเป็นต้องหานายกรัฐมนตรี ในช่วงรอยต่อรัฐบาล หรือเกิดช่องว่างทางการเมือง เพื่อให้สามารถทำงานหรือสานงานต่อไปได้อย่างราบรื่น และค่อนข้างไว้วางใจในตัวปลัดกระทรวงว่าจะสามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถและเหมาะสมเข้ามาทำงานได้เป็นอย่างดี และร้อยละ 8.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือน กรกฎาคม และ ธันวาคม ปี 2557 พบว่า มีผู้ที่ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 25.10 และ ร้อยละ 47.25 ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ที่เห็นด้วย อยู่ที่ ร้อยละ 66.00 และ ร้อยละ 46.05 ตามลำดับ จากผลสำรวจที่พบว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รัฐมนตรี และคัดเลือกกันเองเพื่อหาบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง มีสัดส่วนแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ อาจเกิดจากความรู้สึกของประชาชนจำนวนหนึ่งที่มองว่าการเข้าถึงปลัดกระทรวงเพื่อร้องเรียนปัญหาต่างๆ นั้นยากกว่าการร้องเรียนต่อรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีที่เป็นนักการเมือง
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 20.06 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 19.90 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 20.06 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 20.06 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 19.90 ภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 53.53 เป็นเพศชาย ร้อยละ 46.23 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.24 เป็นเพศทางเลือก
ตัวอย่างร้อยละ 5.90 มีอายุ 18 – 24 ปี ร้อยละ 33.31 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 51.16 มีอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 9.64 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 93.93 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.95 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.12 คริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่าง ร้อยละ 26.78 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 71.06 สมรสแล้ว และตัวอย่างร้อยละ 2.16 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่างร้อยละ 22.00 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 31.60 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 10.24 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 29.44 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่าและตัวอย่างร้อยละ 6.72 จบการศึกษา สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 15.53 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 15.77 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่างร้อยละ 23.86 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 13.85 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 15.85 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 11.69 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ตัวอย่างร้อยละ 3.44 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 12.61 ไม่มีรายได้ ตัวอย่างร้อยละ 18.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 32.59 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 13.96 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 7.38 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 7.93 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 7.06 ไม่ระบุรายได้