กรุงเทพฯ--5 พ.ค.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่องความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่และการทำประชามติ : จำนวนทั้งสิ้น 1,080 ตัวอย่าง จาก 19 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงราย แพร่ ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ นครราชสีมา มหาสารคาม ยโสธร หนองคาย อำนาจเจริญ อ่างทอง ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี นนทบุรี นครศรีธรรมราช ระนอง และสุราษฎร์ธานี ดำเนินโครงการในวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2558
ผลการสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 54.7 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 28.8 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 11.3 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 4.3 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.9 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
คณะผู้วิจัยได้เริ่มต้นจากการสอบถามความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยให้แกนนำชุมชนระบุว่าข้อความใดที่ตรงกับความรู้สึกของตนเองมากที่สุด เมื่อพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับแรกนี้ ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชน ร้อยละ 38.2 ระบุเป็นเรื่องที่สนใจติดตามมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 33.9 ระบุรู้สึกชื่นชมมากที่สุด ร้อยละ 10.0 ระบุรู้สึกเบื่อหน่ายมากที่สุด ร้อยละ 5.6 ระบุรู้สึกตำหนิมากที่สุด และร้อยละ 12.3 ระบุเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร
อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในประเด็นสำคัญต่างๆ พบประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณา ดังต่อไปนี้ เมื่อสอบถามว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของประเทศตอนนี้ ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 94.7 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 5.3 ระบุไม่เห็นด้วย สำหรับประเด็น วิตกกังวลต่อผลกระทบจากเคลื่อนไหวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญนั้น พบว่าร้อยละ 48.1ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 51.9 ระบุไม่เห็นด้วย ประเด็น เครียดเรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ร้อยละ 56.2 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 43.8 ระบุไม่เห็นด้วย ประเด็น ขัดแย้งกับคนในครอบครัวเรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ พบว่าร้อยละ 24.3 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 75.7 ระบุไม่เห็นด้วย ประเด็น ขัดแย้งกับเพื่อนบ้านเรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ พบว่าร้อยละ 23.2 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 76.8 ระบุไม่เห็นด้วย ประเด็น ขัดแย้งกับคนอื่นๆในที่ทำงานเรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ พบว่าร้อยละ 26.0 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 74.0 ระบุไม่เห็นด้วย ประเด็น รู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศการเมืองขณะนี้ พบว่าร้อยละ 48.2 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 51.8 ระบุไม่เห็นด้วย ประเด็น รู้สึกอึดอัดกับพฤติกรรมของนักการเมืองขณะนี้ พบว่าร้อยละ 56.4 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 43.6 ระบุไม่เห็นด้วย
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีที่มีการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับแรกนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชุม ร้อยละ 55.4 ระบุเห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน /ประชาชนรากหญ้าจะได้มีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างแท้จริง/คิดว่าการทำประชามติก่อนจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตได้/อยากให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนทุกฝ่ายยอมรับได้จริงๆ ทั้งนี้แกนนำชุมชนประมาณ 1 ใน 3 คือร้อยละ 39.4 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่อยากให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอีก/เชื่อมั่นในการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีมากกว่าอย่างอื่น/คิดว่าการออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้มีวาระซ่อนเร้นอย่างอื่นๆ ในขณะที่ร้อยละ 5.2 ไม่ระบุความคิดเห็น
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับผลดี-ผลเสียของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น พบว่า แกนนำชุมชนมากกว่า 2 ใน 3 คือร้อยละ 79.2 ระบุเชื่อว่ามีผลดีมากกว่า โดยระบุเหตุผลว่า ประชาชนจะได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก/จะได้ความคิดเห็นที่หลากหลายไปแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์มากที่สุด/เชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีจะสามารถควบคุมการทำประชามติให้โปร่งใสและเป็นธรรมได้/ ทำตอนนี้ ดีกว่าทำหลังเลือกตั้ง อาจจะวุ่นวายมากกว่านี้ ในขณะที่ร้อยละ 9.7 ระบุเชื่อว่ามีผลเสียมากกว่า เพราะอาจจะทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก/ไม่แน่ใจในความโปร่งใสของการทำประชามติ/ เกรงว่าจะยืดเวลาการเลือกตั้งออกไปอีก/อาจทำให้เกิดการแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอีก/ เกรงว่ารัฐบาลจะคุมสถานการณ์ไม่อยู่/บ้านเมืองเพิ่งจะเริ่มสงบ ไม่อยากให้เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นมาอีก/ต้องการความสงบ ยังไม่อยากให้มีการทำประชามติตอนนี้ และร้อยละ 11.1 ระบุไม่มีความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามความคิดเห็นถึง หน่วยงานที่มีความเชื่อมั่นว่าจะเป็นเจ้าภาพในการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา นั้น พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 42.6 ระบุเชื่อมั่นใน คณะรักษาความสบแห่งชาติ (คสช.) รองลงมาคือร้อยละ 18.9 ระบุรัฐบาล ร้อยละ 14.7 ระบุสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร้อยละ 13.8 ระบุคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร้อยละ 6.3 ระบุคณะกรรมการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 7.7 ระบุอื่นๆ อาทิ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) /ใครก็ได้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย/ตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบโดยตรง
ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นแกนนำชุมชน กรณีจะยอมรับได้หรือไม่หากจะต้องดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เรียบร้อยและประกาศใช้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่ คือร้อยละ 83.3 ระบุยอมรับได้ โดยให้เหตุผลว่าอยากให้บ้านเมืองเรียบร้อยและพร้อมจริงๆ ก่อนที่จะเลือกตั้งใหม่/อยากให้บ้านเมืองเข้าที่เข้าทางก่อน /การเลือกตั้งจะได้ไม่มีปัญหา/จะได้ไม่เกิดความขัดแย้งอีก/ให้มีกฎกติกาที่ชัดเจนก่อน บ้านเมืองจะได้ก้าวหน้าไปจริงๆ /รัฐธรรมนูญเป็นหลักสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องทำให้สมบูรณ์ที่สุด ทั้งนี้มีเพียงร้อยละ 2.5 ที่ระบุยอมรับไม่ได้ เพราะอยากได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ/เลือกตั้งแล้วค่อยแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้ /เกรงว่าจะใช้เวลานานเกินไป ในขณะที่ร้อยละ 14.2 ระบุไม่มีความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวนี้
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
แกนนำชุมชนร้อยละ 84.2 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 15.8 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 6.2 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 28.5 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 65.3 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 30.4 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 49.5 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.6 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 14.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ และเมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 17.1 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 32.6 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000 – 15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 16.3 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 34.0 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ