กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่องใบเหลืองอียูกับความเชื่อมั่นของแกนนำชุมชน : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 1,080 ตัวอย่าง จาก 19 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน น่าน สกลนคร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ขอนแก่น อุทัยธานี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก ปทุมธานี สระแก้ว จันทบุรี พังงา ตรัง และ สงขลา ดำเนินโครงการในวันที่ 24-26 เมษายน 2558 ผลการสำรวจพบว่า
ผลการสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 54.0 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 35.0 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 7.9 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 3.0 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.1 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
ทั้งนี้ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงการรับรู้รับทราบข่าวกรณีสหภาพยุโรปหรืออียูประกาศให้ใบเหลืองกับสินค้าประมงของประเทศไทยนั้นพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 77.6 ระบุรับทราบข่าวดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 22.4 ระบุไม่ทราบข่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณีความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายหรือไอยูยูนั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนมากกครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 60.4 เห็นว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังมาก-มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 30.1 ระบุค่อนข้างจริงจัง ร้อยละ 5.4 ระบุไม่ค่อยจริงจัง และร้อยละ 4.1 ระบุน้อย-ไม่เอาจริงเอาจังเลย
สำหรับความคิดเห็นกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศจะใช้กฎหมายมาตรา 44 เพื่อให้อำนาจทหารในการเข้ามาช่วยให้เกิดการบูรณาการในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 71.8 ระบุเห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ถ้ามีทหารเข้ามาการประสานงานทุกฝ่ายจะเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น/ทหารเป็นตัวประสานที่ดี/ทหารทำงานเป็นขั้นตอนมีระเบียบชัดเจน/มาตรา 44 ช่วยปลดล็อคข้อติดขัดบางอย่างทำให้สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น/มีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรา 44ควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรงบานปลายได้/ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 6.5 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะ ทหารอาจจะไม่มีประสบการณ์ในลักษณะนี้/ตัวกฎหมายดูรุนแรงมากเกินไป/เป็นการให้อำนาจทหารมากเกินไป/ไม่อยากให้ทหารเข้าไปแทรกแซงมากเกินไป และผลสำรวจพบว่าแกนนำชุมชน ร้อยละ 21.7 ไม่ระบุความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว
สำหรับความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานตามแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย 4 ข้อของอียูนั้นพบว่าแกนนำชุมชน โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถดำเนินงานตามแนวทางการแก้ไขของอียูได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากฎหมายการทำประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ที่แกนนำชุมชนร้อยละ 89.3 เชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ รองลงมาคือ การมีแผนปฏิบัติการระดับชาติ หรือ National Plan of Actions ที่ให้น้ำหนักกับการป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ที่พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 86.0 ระบุเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ สำหรับการจัดระบบเฝ้าติดตามเรือประมงขณะออกจับสัตว์น้ำหรือ VMS นั้น พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 83.0 ระบุเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ ในขณะที่การมีระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงตั้งแต่ผู้บริโภคปลายทางจนถึงต้นทางของการจับสัตว์น้ำนั้น พบว่า แกนนำร้อยละ 80.5 ระบุเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถทำได้ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถปลดใบเหลืองจากอียู ได้ภายในเวลา 6 เดือนตามที่กำหนดหรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 44.0 ระบุเชื่อมั่น เพราะ รัฐบาลทำงานอย่างเอาจริงเอาจังถ้ามีทหารเข้ามาช่วยน่าจะทำได้ตามกำหนดเวลา/ทหารทำงานเร็วเป็นระเบียบ/รัฐบาลมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน/เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 14.3 ระบุไม่เชื่อมั่น เพราะปัญหาสะสมมานานไม่น่าจะแก้ได้ในเวลาแค่ 6 เดือน /ให้เวลาน้อยเกินไป/ยังไม่เห็นความชัดเจนว่าจะทำอย่างไรบ้าง/อาจจะไม่ได้รับความร่วมมือ/มีปัญหาที่ต้องสะสางหลายอย่าง ที่น่าสนใจคือ แกนนำชุมชนร้อยละ 41.7 ระบุไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะสามารถปลดใบเหลืองได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนว่า ยังคงไว้ใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการใช้กฎหมายมาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 90.1 ระบุยังคงไว้ใจ โดยให้เหตุผลว่า เชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีจะทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้อง/นายกฯเป็นคนตั้งใจทำงาน/เชื่อมั่นในการทำงาน/ทหารเป็นคนเด็ดขาด พูดจริงทำจริง/นายกฯเป็นคนดีมีคุณธรรม/นายกฯ ทำงานโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา/มาตรา 44 เป็นกฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ ในขณะที่ร้อยละ 9.9 ระบุไม่ไว้ใจแล้ว เพราะ กฎหมายมาตรา 44 ดูมีความรุนแรง/คิดว่าไม่เป็นประชาธิปไตย/ให้อำนาจทหารมากเกินไป/ยังไม่เข้าใจรายละเอียดของมาตรา 44/คิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
แกนนำชุมชนร้อยละ 88.3 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 11.7 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 6.0 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 32.1 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 61.9 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 87.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 11.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 0.9 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี และเมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 12.0 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 29.7 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000 – 15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 18.8 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 39.5 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ