กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
กรมวิทยาศาสตร์บริการ ก.วิทย์ จับมือ คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. เพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แก่ผู้ประกอการวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย 7 จังหวัด ผ่านการรับรองมาตรฐาน มผช. สำเร็จ 52 ผลิตภัณฑ์
ผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เป็น 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ “OTOP” ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปทั่วโลก แต่ยังมีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทอาหารและเครื่องดื่มอีกมากที่ประสบปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ เปิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ และรสชาติที่ไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนหลายรายไม่สามารถขอรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)ได้ ดังนั้น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำ โครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และให้คำปรึกษาทางวิชาการแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ในการเข้าสู่ระบบการขอรับการรับรองมาตรฐาน มผช. โดยมีพื้นที่เป้าหมายรวม 7 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร น่านและแม่ฮ่องสอน ล่าสุดโครงการได้ดำเนินการแล้วเสร็จตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงได้จัดให้มีพิธีปิดโครงการพร้อมจัดเสวนาหัวข้อ “ การพัฒนายกระดับศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานและแนวทางการเพิ่มรายได้” ณ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อมาตรฐานและอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อวันอังคารที่ 21 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา
ดร.ณัชนพงศ์ วชิรวงศ์บุรี รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าไทย เป็นเป้าหมายหนึ่งของกรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมายังไม่สามารถควบคุมการผลิตให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และไม่สามารถผลิตสินค้าให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนซึ่งเป็นผลจากขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมอาหาร อาทิ กระบวนการผลิตที่ปลอดภัย การเก็บรักษาอายุผลิตภัณฑ์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เพิ่มมูลค่าสินค้าและความสามารถของชุมชนให้สามารถแข่งขันในเวทีสากล กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมธนบุรีเกล้า (มจธ.) เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในพื้นที่
เป้าหมาย 7 จังหวัด ให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค โดยการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เข้าสู่กระบวนการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ล่าสุดโครงการฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีสินค้าที่ผ่านเข้าสู่ระบบการขอรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนถึง 52 ผลิตภัณฑ์ จากจำนวนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 137 กลุ่ม และมีหลายผลิตภัณฑ์ที่สามารถขยายตลาดเข้าไปสู่ห้างสรรพสินค้าและตลาดต่างประเทศได้ อีกทั้งยังสามารถพัฒนาธุรกิจที่มีอยู่ถือว่าเข้มแข็งยิ่งขึ้น นำไปสู่การเพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้ และสร้างชื่อเสียงของชุมชนให้เป็นที่รู้จักจนทำให้ชุมชนมีโอกาสขยายตลาดเพื่อรองรับการขยายตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซีย(AEC)
ผศ.ดร.วรนุช เกิดสินธ์ชัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มจธ. กล่าวถึงกิจกรรมว่า ในการดำเนินโครงการทางคณะทำงาน ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการและวินิจฉัยเบื้องต้น มีการฝึกอบรมและการให้คำปรึกษาในการเข้าสู่กระบวนการขอรับการรับรอง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันต่างๆ อาทิ การควบคุมคุณภาพตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน การพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน ลดการใช้พลังงาน ลดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์และสิ่งอันพึ่งไม่ประสงค์ต่างๆ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการยืดอายุ การเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งการพัฒนาปรับปรุงสถานที่ผลิตเพื่อความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และผลจากการดำเนินโครงการครั้งนี้ ยังได้มีการทดลองและพัฒนาเทคโนโลยี “เครื่องทำระเหยและเครื่องทำแห้งแบบสุญญากาศแบบใหม่” ที่ยังไม่มีการนำมาใช้ในประเทศ โดยคณะทำงาน มจธ.ได้นำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลมะพร้าว และแปรรูปผลผลิตทางเกษตรอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ ยังได้จัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานต่างๆในการพัฒนาต่อยอด รวมทั้งได้จัดทำแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับผู้ผลิตสินค้าชุมชนได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป
ขณะที่ นางอ้อมใจ จิตต์สนอง ตัวแทนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปากแรด จ.ราชบุรี กล่าวว่า ทางกลุ่มฯแปรรูปอาหารจากเห็ดนางฟ้า มีปัญหาเรื่องการทอดและผลิตภัณฑ์ที่ได้แต่ละครั้งไม่ได้มาตรฐานสีที่ทอดออกมาไม่สม่ำเสมอ และอายุการเก็บรักษาสั้น หลังเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมากขึ้น เห็ดมีสีสันสวยน่ารับประทาน พร้อมกับการปรับโฉมแพคเก็จใหม่ทำให้สินค้ามีอายุในการเก็บรักษานานขึ้น และยังได้รับผลตอบรับจากกลุ่มวัยรุ่นหันมาให้ความสนใจมากขึ้นจากเดิมที่มีเพียงกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่รักษ์สุขภาพ ทำให้ปัจจุบันมียอดขายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้จากความรู้ทีได้ทางกลุ่มฯยังต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่มีเพียง 3 รายการ และการเข้าร่วมโครงการฯ ยังได้จุดประกายให้ทางกลุ่มฯ เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่ผู้บริโภค โดยเตรียมขยายตลาดเข้าไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจา
ด้านนางปารย์จรัส ไชยธนาธำรง ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปตำบลสระแก้ว จ.สุพรรณบุรี กล่าวด้วยว่า ในการผลิตหม้อแกงที่ต้องใช้เวลานาน ส่งผลต่อการนำไปวางจำหน่ายจากที่ต้องเริ่มกระบวนการผลิตตั่งแต่เจ็ดโมงเช้ากว่าจะผลิตเสร็จบ่ายสาม หลังเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งทางกลุ่มฯ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และได้
ดำเนินการตามคำแนะนำทุกขั้นตอน ทำให้การผลิตที่เคยใช้เวลานาน ลดลง สามารถผลิตสินค้าออกไปจำหน่ายได้ภายในเที่ยง โดยได้อาจารย์จาก มจธ.เข้ามาแนะนำเรื่องการปรับปรุงสถานที่ การปรับปรุงน้ำสำหรับแช่ถั่ว และเปลี่ยนจากการต้มถั่วมาเป็นการนึ่ง ทำให้ผลการผลิตดีขึ้น ลดเวลาในการกวนถั่วลงได้มาก จากเดิมใช้เวลาชั่วโมงครึ่งลดลงเหลือครึ่งชั่วโมง รวมทั้งแนะนำเรื่องการอบไล่น้ำ ซึ่งในการอบแต่ละครั้งใช้เวลานานถึง 3 ชั่วโมงลดลงเหลือเพียงชั่วโมงครึ่ง ช่วยประหยัดเวลาลงได้มาก รวมถึงการปรับปรุงรูปแบบของบรรจุภัณฑ์หรือแพคเก็จจิ้งใหม่ ทำให้สินค้าดูน่าสนใจเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดได้กว้างขึ้น จากที่ส่งขายได้เฉพาะภายในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีเท่านั้น สร้างความภาคภูมิใจให้กับกลุ่มฯอย่างมาก ถือเป็นโครงการที่ได้ประโยชน์อย่างมาก