กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--NBTC Rights
จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 9/2558 : ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม,รายงานการกำกับดูแล 3G, รายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคมประจำปี 2557, ปรับปรุงเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมไทยคม 7, พิจารณาใบอนุญาตบริษัทไทยคมในการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม, และการแก้ไขประกาศเรื่องกระบวนรับเรื่องร้องเรียนฯ
วาระการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 9/2558 วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม 2558 มีวาระที่น่าจับตาหลายประเด็น ทั้งเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม รายงานการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่านความถี่ 2.1 GHz รายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคมประจำปี 2557 การปรับปรุงเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมไทยคม 7 เรื่องพิจารณาการให้ใบอนุญาต บมจ. ไทยคมในการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม และเรื่องแก้ไขประกาศเรื่องกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ
วาระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม
ตามที่เคยปรากฏเป็นข่าวว่า บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ได้ทำสัญญาเช่าเสาโทรคมนาคมจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทรูโกรท (TRUEIF) จำนวน 115 เสา ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2557 เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในย่านความถี่ 2.1 GHz ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของกองทุนรวมฯ ถือว่าครบองค์ประกอบของการประกอบกิจการโทรคมนาคม แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีการขอรับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช.
ในเรื่องนี้คณะทำงานเพื่อศึกษาการออกแบบใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม กรณีการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด ซึ่งตั้งขึ้นตามมติที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 เพื่อศึกษารายละเอียด หลักเกณฑ์ และวิเคราะห์เกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว โดยคณะทำงานมีมติชี้ขาดว่า หากกองทุนรวมมีลักษณะจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมด้วยการให้เช่าทรัพย์สินโทรคมนาคมแก่บุคคลอื่นทั่วไป ก็จะต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544
ขณะที่ บลจ. ไทยพาณิชย์ ในฐานะบริษัทจัดการกองทุน ได้มีหนังสือชี้แจงมายังสำนักงาน กสทช. ว่า กองทุนรวมไม่ได้บริหารจัดการทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมด้วยตนเองแต่อย่างใด แต่ให้ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามเป็นผู้บริหารจัดการและดูแลทรัพย์สินเสาโทรคมนาคมดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงของกรณีนี้คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทรูโกรทได้นำทรัพย์สินโทรคมนาคมออกให้เช่าแก่กลุ่ม บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บจ. ดีแทค ไตรเน็ต จึงครบองค์ประกอบที่ต้องขออนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ตามกฎหมายด้วย ดังนั้น บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จึงมีสถานะเป็นเพียงผู้เช่าเท่านั้น ขณะที่ผู้จัดการทรัพย์สินควรต้องมีสถานะเป็นตัวแทนของกองทุนซึ่งเป็นผู้ให้เช่า นอกจากนี้ เงินรายได้ของกองทุนยังเป็นรายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการโทรคมนาคม ดังนั้นจึงมีภาระต้องนำส่งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายด้วย
ทั้งนี้ ในชั้นกลั่นกรองวาระ มีกรรมการ กทค. 2 ท่านที่เห็นตรงกันว่า การประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งหากในกรณีของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ไม่อนุญาตให้ บลจ. ไทยพาณิชย์ ประกอบกิจการโทรคมนาคมเองได้ ก็เป็นเรื่องที่กองทุนจะต้องให้นิติบุคคลอื่นที่เป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช เป็นผู้ดำเนินการแทน ก็คงต้องติดตามดูว่าในชั้นการพิจารณาในที่ประชุม กทค. กรรมการจะยังยืนตามความเห็นของตนในชั้นกลั่นกรองด้วยหรือไม่
วาระรายงานการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่านความถี่ 2.1 GHz
เงื่อนไขท้ายใบอนุญาตการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz กำหนดว่า ผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการครอบคลุมทุกจังหวัด และครอบคลุมประชากรไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 2 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต และไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 4 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต
ล่าสุดรายงานการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่านความถี่ 2.1 GHz ฉบับเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งถือเป็นเดือนที่ครบกำหนด 2 ปีที่สำนักงาน กสทช. ได้ออกใบอนุญาตแก่ผู้ให้บริการ 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเอไอเอส บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือดีแทค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ของกลุ่มทรู โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด มีการติดตั้งโครงข่ายมากที่สุด จำนวน 18,215 สถานี ครอบคลุมจำนวนประชากร 96.88 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด มีการติดตั้งโครงข่ายจำนวน 10,063 สถานี ครอบคลุมจำนวนประชากร 90.86 เปอร์เซ็นต์ ส่วนลำดับสุดท้ายคือ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด มีการติดตั้งโครงข่ายจำนวน 5,464 สถานี ครอบคลุมจำนวนประชากร 58.70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการติดตั้งโครงข่ายในการให้บริการของทั้งสามบริษัทถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต โดยจำนวนโครงข่ายดังกล่าวเป็นโครงข่ายที่ใช้ประกอบกิจการโทรคมนาคมบนย่านความถี่ 2.1 GHz ไม่นับรวมโครงข่ายในย่านความถี่อื่นที่สามารถให้บริการ 3G ได้เช่นกัน
สำหรับปัญหาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่าน 2.1 GHz ที่ผ่านมา หากพิจารณาจากสถิติเรื่องร้องเรียนที่มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามายังสำนักงาน กสทช. พบว่าส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนเรื่องคุณภาพความเร็วของสัญญาณ รองลงมาเป็นเรื่องการคิดค่าบริการผิดพลาด ค่าบริการ 3G ไม่ได้ปรับลด 15 เปอร์เซ็นต์ และเรื่องการกำหนดระยะเวลาการใช้งาน Prepaid ตามลำดับ
วาระรายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคมประจำปี 2557
แม้วาระนี้เป็นวาระเพื่อทราบ แต่ก็น่าจับตาอย่างมาก โดยรายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคมประจำปี 2557 ฉบับนี้มีจุดผิดสังเกตคือ ไม่มีการระบุวิธีการคำนวณอัตราค่าบริการ ซึ่งแตกต่างกับรายงานปีก่อนๆ ซึ่งมีการระบุวิธีการคำนวณค่อนข้างชัดเจน การไม่ระบุวิธีการคำนวณนี้ ทำให้ข้อมูลที่แสดงขาดความน่าเชื่อถือ แล้วชวนสงสัยว่าอาจเป็นการพยายามปิดบังวิธีการคำนวณ ไม่ให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงวิธีการคำนวณเพื่อป้องกันข้อโต้แย้งต่อวิธีการคำนวณที่อาจมีจุดอ่อนหรือไม่ นอกจากนี้ ในส่วนของข้อมูลราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ที่ปรากฏในรายงานเล่มนี้ก็ขัดแย้งกับข้อมูลที่แสดงบนเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. โดยข้อมูลค่าบริการในรายงานระบุที่ 0.07 บาท/kbps แต่ในเว็บไซต์ระบุที่ 0.10 บาท/kbps ซึ่งข้อมูลดังกล่าวควรที่จะต้องตรงกัน หากข้อมูลไม่ตรงกัน ย่อมมีข้อมูลแหล่งใดแหล่งหนึ่งคลาดเคลื่อน หรือหากเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการคาดการณ์ ก็ควรมีการระบุให้ชัดเจน ซึ่งหากตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง ก็อาจถูกนำไปอ้างว่าราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่มีแนวโน้มลดลง ทั้งที่ความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น
วาระปรับปรุงเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมไทยคม 7
บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) แจ้งความคืบหน้าของโครงการดาวเทียมไทยคม 7 ตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก ปัจจุบันดาวเทียมได้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเป็นผลสำเร็จแล้วเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2557 และอยู่ระหว่างทดสอบคุณสมบัติต่างๆ ของดาวเทียมขณะอยู่ในวงโคจร ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเร็ววัน อย่างไรก็ตาม ลักษณะเฉพาะของดาวเทียมตามที่บริษัทฯ แจ้งเพิ่มเติมภายหลังจากที่ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรไปแล้วนั้น พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอายุของดาวเทียมให้สามารถใช้งานในวงโคจรได้นานขึ้นจากเดิมประมาณ 15 ปี เป็นประมาณ 22 ปี แม้ในเงื่อนไขในการอนุญาตจะระบุว่า บริษัทอาจขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการอนุญาตได้ แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่บริษัทควรได้รับอนุญาตจาก กสทช. เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้บริษัทมีสิทธิใช้ทรัพยากรของประเทศคือ คลื่นความถี่และวงโคจรเป็นระยะเวลายาวกว่าที่บริษัทได้รับอนุญาตตามเงื่อนไขเดิม นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบว่าดาวเทียมดังกล่าวมีการใช้งานคลื่นความถี่เกินจากที่แจ้งไว้กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ดังนั้น ที่ประชุม กทค. จึงจำเป็นต้องพิจารณาการปรับปรุงเงื่อนไขในการอนุญาตนี้โดยรอบคอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจน คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ และไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
วาระ บมจ. ไทยคม ขอรับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม
บมจ. ไทยคม ได้มีหนังสือลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ขอรับใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ผ่านดาวเทียมแบบ WiFi ย่านความถี่วิทยุ 2.4 GHz และ 5 GHz แก่ผู้ใช้บริการเครื่องบินโดยสาร เรือ และให้บริการเฉพาะกิจ โดยรูปแบบของการให้บริการคือ บมจ. ไทยคม เช่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตจากผู้รับใบอนุญาตและส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปยังสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินของผู้ให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมดังกล่าวจะตั้งสถานีดาวเทียมในการรับ-ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมให้กับ บมจ. ไทยคม เพื่อทำการเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ติดตั้งอุปกรณ์รับส่งสัญญาณดาวเทียม
เหตุที่วาระนี้น่าจับตา เนื่องจากที่ผ่านมามีเพียง บมจ. ไทยคมที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสาร จึงทำให้ บมจ. ไทยคมกลายเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวเท่านั้นที่สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในลักษณะดังกล่าวและผูกขาดธุรกิจประเภทนี้ไปโดยปริยาย ดังนั้น นอกจากการพิจารณาประเด็นการให้อนุญาตแล้ว ก็ควรพิจารณาถึงมาตรการป้องกันการผูกขาด เพื่อสนับสนุนให้มีการแข่งขันในธุรกิจประเภทนี้ด้วย
วาระขอแก้ประกาศเรื่องกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ
วาระนี้เป็นวาระที่สำนักงาน กสทช. เสนอขอแก้ไขประกาศ กทช. เรื่องกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ โดยจะแก้ไขประกาศดังกล่าวเป็นระเบียบ กสทช. ว่าด้วยกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยระบุเหตุผลในการแก้ไขว่า เนื่องจากประกาศ กทช ดังกล่าวออกตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2543 ซึ่งเมื่อมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 จึงควรมีการปรับปรุงแก้ไขประกาศดังกล่าว
อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตว่า ภายหลังที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้ สำนักงาน กสทช. ก็ยังคงมีการใช้ประกาศ กทช ดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติในการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการเรื่อยมา ดังนั้นหากจะมีการปรับปรุงแก้ไขประกาศ ก็น่าที่จะเป็นการปรับปรุงแก้ไขประกาศที่ทำให้กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนมีประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ทว่าในการปรับปรุงแก้ไขครั้งนี้กลับมีข้อน่าเคลือบแคลง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงสถานะจากประกาศเป็นระเบียบทั้งที่เนื้อหาของร่างระเบียบมีผลบังคับใช้กับบุคคลภายนอก กล่าวคือผู้บริโภคที่ร้องเรียนและผู้รับใบอนุญาตที่ถูกร้องเรียน ส่วนกระบวนการรับเรื่องร้องในประกาศฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้ผู้บริโภคที่ต้องการร้องเรียนต้องหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องจัดส่งสำเนาบัตรประชาชนเพื่อประกอบการร้องเรียน ไม่สามารถร้องเรียนผ่านทางวาจาโดยวิธีโทรศัพท์ ซึ่งขั้นตอนวิธีการนี้เป็นอุปสรรคในการร้องเรียนปัญหาของผู้บริโภคมาโดยตลอด กลับไม่ได้รับแก้ไขปรับปรุงเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ในร่างระเบียบฉบับใหม่ยังมีการกำหนดขั้นตอนเพิ่มขึ้น โดยหากสำนักงาน กสทช. เห็นว่าเป็นกรณีที่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ ก็จะสอบถามคู่กรณีว่าประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหรือไม่ หากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายยินยอมเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ก็จะมีการนำระเบียบว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตและผู้ร้องเรียนมาใช้ ซึ่งข้อกำหนดนี้สะท้อนถึงการแยกขั้นตอนการไกล่เกลี่ยออกจากกระบวนการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนโดยไม่จำเป็น และอาจทำให้กระบวนการพิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนมีความล่าช้าออกไปอีก