กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
“โครงการครูช่าง”เริ่มเป็นที่รู้จักหลายคนอาจคุ้นหูโดยเฉพาะชาวชุมชนใต้สะพานโซน 1 เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2554 ได้รับการปฏิบัติต่อยอดกันมาอย่างต่อเนื่อง เป็นผลงานของกลุ่มนักศึกษาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้นำความรู้ที่ร่ำเรียนใน 7 ภาควิชาเข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนที่อยู่รอบรั้วมหาวิทยาลัยติดต่อกันมานานกว่า 4 ปี กลายเป็นวัฒนธรรมที่ทำต่อๆกันจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องและได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากคณะครุศาสตร์ฯ ถือเป็นตัวอย่างที่ให้เห็นถึงการดำเนินนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ไม่เพียงทำหน้าที่ผลิตนักศึกษาออกสู่สังคม แต่ยังมุ่งเน้นสร้างบัณฑิตที่เก่งและดีมีความรับผิดชอบสู่สังคมอีกด้วย
ล่าสุด ผลงานโครงการครูช่างของกลุ่มนักศึกษาคณะครุศาสตร์ฯ มจธ. สามารถคว้ารางวัลจากการประกวดในโครงการต้นแบบส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมแห่งชาติ(Morals Ethics and core Values of Thailand Contest : ME Thai Contest 2015) ได้ถึง 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลยอดเยี่ยมจากโครงการครูช่างปล่อยของสอนน้องสร้างหุ่นยนต์คุณธรรมจากขยะ , รางวัลดีเด่น และรางวัลขวัญใจมหาชนจากโครงการครูช่างจับกล้องสอนน้องสร้างหนังสั้นส่งเสริมค่านิยม 12 ประการ โดยได้รับโล่ห์เกียรติยศพร้อมเงินรางวัล จากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และยังได้รับรางวัลดีจากโครงการกิจกรรมส่งเสริมความเป็นครู จากจำนวนโครงการที่ส่งเข้าประกวดกว่า 130 โครงการจากทั่วประเทศ ณ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ชลบุรี ซึ่งโครงการดังกล่าวฯ จัดขึ้นเพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้กับนักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไป และตระหนักถึงสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมถึงคุณธรรมและวัฒนธรรมไทย
นางสาววรรณกานต์ ภาศักดิ์ หนึ่งในทีมโครงการครูช่าง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี บอกว่า โครงการครูช่างจับกล้องสอนน้องสร้างหนังสั้นเรื่องส่งเสริมค่านิยม 12 ประการ เพื่อต้องการให้เด็กๆในชุมชนใต้สะพานโซน 1 ตั้งอยู่บริเวณหลังสวนธนบุรีรมย์ใกล้กับรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กระดับประถมศึกษาได้รู้ถึงค่านิยม 12 ประการ และได้เรียนรู้พื้นฐานในการทำหนังสั้น โดยมีพี่ๆ ทหารเข้ามาช่วยสอนให้ความรู้เกี่ยวกับค่านิยม 12 ประการ พร้อมกับให้เด็กๆน้องๆในชุมชนมีส่วนร่วมในการแสดง โดยในแต่ละฉากของหนังสั้นจะมีการสอดแทรกค่านิยมฯเข้าไปและแฝงไปด้วยคุณ เช่น ก่อนออกจากบ้านจะมีฉากให้ไหว้พ่อแม่ก่อนออกจากบ้าน หรือกรณีข้อใฝ่หาคามรู้หมั่นศึกษาเล่าเรียน ในหนังก็จะเป็นฉากที่น้องมีคำถามว่าทำไม ถือเป็นการสอนน้องๆ ผ่านหนังที่ยังแฝงไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรม นอกจากนี้ยังได้ร่วมกัน
สารคดีชีวิตของคนในชุมชนใต้สะพานโซน1 เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของคนในชุมชนแห่งนี้ จากอดีตที่ชุมชนค่อนข้างขาดโอกาสหลายอย่าง ต้องผ่านอะไรมามากมาย จากเดิมถูกเรียกกันว่า “คนรู” เพราะต้องมุดลงไปอาศัยใต้สะพานในซอยประชาอุทิศ 76 เป็นที่พักพิง จนตอนหลัง กทม.ได้จัดสรรพื้นที่ให้ชาวชุมชนแห่งนี้ได้เข้ามาอยู่ร่วมกันในบริเวณหลังสวนธนบุรีรมย์ เรียกชื่อใหม่ว่า ชุมชนใต้สะพานโซน 1 ซึ่งในชุมชนมีเด็กเล็กมากกว่า 200 คน
ด้านนายภาวัต กิติสุวรรณการ ได้กล่าวถึงโครงการครูช่างปล่อยของสอนน้องสร้างหุ่นยนต์คุณธรรมจากขยะว่า จุดเริ่มต้นไม่ได้ต้องการให้เขาสร้างหุ่นยนต์ แต่หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ทุกอาทิตย์สังเกตเห็นว่าละแวกรอบชุมชนมีขยะและเศษขวดพลาสติกเป็นจำนวนมาก และเด็กๆ ในชุมชนค่อนข้างขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาจึงไม่รู้จักทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง เราจึงเริ่มสอนเรื่องการเก็บขยะให้เป็นที่ และการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง จากนั้นก็เริ่มสอนให้รู้ว่าเศษขยะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ขวดจากเศษขยะนำมาทำเป็นหุ่นยนต์ได้
นางสาวธัญญริญญ์ พลัสส์คงสิน กล่าวเสริมว่า เป็นการสอนการทำหุ่นยนต์แบบง่ายๆ ไม่มีกลไกอะไรมากนัก โดยให้เด็กๆ ใช้จินตนาการในการออกแบบวาดรูปหุ่นยนต์ ส่วนล้อและมอเตอร์ทางพี่ๆ จะเป็นผู้นำมาติดให้ ซึ่งผลจากการสอนน้องสร้างหุ่นยนต์เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนคือ เด็กๆ ปรับพฤติกรรมจากเดิมที่วันๆ เด็กๆ เหล่านี้ชอบเอาเศษขวดมาไล่ตีกัน หันมาใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เห็นได้จากทุกครั้งที่พี่ๆ ลงพื้นที่ เด็กๆ ก็จะวิ่งเข้ามาหาเพื่อรอทำกิจกรรมร่วมกับเรา อยากทำกิจกรรมอยากเล่นเกมกับเรามากขึ้น จนวันนี้กลายเป็นความผูกพันขึ้นซึ่งไปเมื่อใดก็จะได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคนในชุมชนเพราะเขาได้เห็นแล้วว่าเราต่างจากหน่วยงานอื่นที่เข้ามาแล้วหายไป แต่โครงการครูช่างของคณะครุศาสตร์ฯ ยังคงเข้าหาชุมชนทุกอาทิตย์ไม่หายไปไหน อย่างไรก็ดีจุดประสงค์ของโครงการฯ คือไม่อยากให้เด็กๆ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และเลิกเอาขวดไล่ตีกัน หันมาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รู้จักการคัดแยกขยะและทิ้งขยะให้ถูกที่
ขณะที่ นายธนกฤต ใจเพ็ชร์ หนึ่งในทีมโครงการครูช่าง กล่าวทิ้งท้ายว่า เป้าหมายการทำโครงการครูช่างของคณะครุศาสตร์ฯ คือ ต้องการเข้าไปช่วยให้คนในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยนำความเด่นจาก 7 ภาควิชาของคณะครุศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโครงการครูช่างเข้าไปพัฒนาการเรียนรู้ให้กับชุมชนในเรื่องที่คนในชุมชนยังมีปัญหาหรือต้องการให้ช่วย ตัวอย่างกิจกรรมที่ผ่านมาเช่น ครูช่างหัวใจหล่อต่อยอดอาชีพซาเล้ง , ครูช่างน้ำใจงาม สร้างแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน , ครูช่างสอนน้องสร้างหุ่นยนต์คุณธรรมจากขยะ หรือ ครูช่างจับกล้องสอนน้องสร้างหนังสั้นฯ แต่ที่สำคัญคือการได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ทั้งคนในชุมชนได้รับความรู้จากสิ่งที่นักศึกษาเข้าไปให้ ส่วนตัวนักศึกษาเองก็ได้รับประสบการณ์ชีวิต รวมถึงมหาวิทยาลัยเองก็ได้รับประโยชน์จากการทำโครงการนี้เช่นกัน เพราะเป็นโครงการที่ทำแล้วเห็นผลจริงจนปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์ของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ.ไปแล้ว ซึ่งทุกคนต่างรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมดังกล่าว