กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--ไอแอมพีอาร์
“ต้นกก” เป็นพืชธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี การทอเสื่อกกนั้นนับเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีการสืบสานมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนของทุกปี ชาวบ้านดุงก็มักจะใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการทำไร่นา มาทอเสื่อกกเพื่อใช้ในครัวเรือน และขายเป็นรายได้เสริม
แต่ปัจจุบันภูมิปัญญาในการทอเสื่อกกเริ่มจางหายไป มีสินค้าจากวัสดุสังเคราะห์เข้ามาแทนการใช้เสื่อกกมากมาย ทำให้กระแสความนิยมในการใช้เสื่อลดลง ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็ไม่ให้ความสนใจ จะเหลือก็เฉพาะคนเก่าคนแก่ที่ยังคงสืบสานการทอเสื่อกกอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน
ประกอบกับปัญหาของเด็กนักเรียนที่ โรงเรียนบ้านห้วยปลาโดศรี ต.บ้านดุง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ที่ใช้เวลาว่างไม่เกิดประโยชน์ คณะครูจึงมองหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เด็กรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สามารถสร้างทักษะอาชีพ และรายได้ให้กับเด็กๆ ไปพร้อมกัน โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่น “การทอเสื่อ” มาใช้ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้จนเกิดเป็น “โครงการทอเสื่อกกพับ” ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
นางจุติรัตน์ นามแสง ครูผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาจะมีเวลาว่างในคาบสุดท้ายของการเรียน ซึ่งเด็กๆ ก็มักพากันมานั่งจับกลุ่มเล่นโทรศัพท์ จึงได้หารือกับผู้ปกครองในชุมชนว่าน่าจะฝึกอาชีพที่เด็กสามารถทำได้ ประกอบกับในชุมชนมีป่ากกจำนวนมาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ แนวคิดการฝึกอาชีพโดยการทอเสื่อกกพับจึงเกิดขึ้น
“เพราะในชุมชนมีต้นกกเป็นจำนวนมาก และเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมานาน จึง อยากให้นักเรียนได้ฝึกฝีมือ เพราะถ้าหากเด็กจบ ม. 3 แล้วไม่สามารถไปเรียนต่อในระดับอาชีวะศึกษา ปวช. ปวส. ได้ อย่างน้อยยังนำความรู้การทอเสื่อมาต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต” ครูจิติรัตน์กล่าว
ในการทอเสื่อกกนั้น เมื่อก่อนชาวบ้านจะใช้พืชที่ขึ้นในน้ำที่เรียกว่า “ผือ” มาทอและใช้เชือกฟางผูกเชื่อมเป็นเสื่อมาหลายปี แต่เมื่อมี “กก” มาทดแทน และยังพบว่ากกสามารถย้อมสีทนและสวยงามกว่าผือ จึงหันมาใช้กกในการทอ และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเสื่อกกพับดังเช่นในปัจจุบัน
โดยการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพการทอเสื่อ จะใช้วิธีให้เด็กเลือกเรียนตามความสมัครใจผ่าน “ชมรมการทอเสื่อกกพับ” โดยรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาจำนวน 30 คน และนักเรียนมัธยมศึกษาจำนวน 30 คน แบ่งหน้าที่กันทำงานในทุกกระบวนการ ตั้งแต่เรียนรู้การปลูก การดูแลรักษา การตัด การกรีดกกให้เป็นเส้น การตาก การย้อม ไปจนถึงการทอเป็นสื่อ และการเย็บขอบต่อเป็นเสื่อกกพับ รวมไปถึงการจัดทำบัญชีการจำหน่ายสินค้าเป็นขั้นตอนสุดท้าย
นายเก่ง เพ็ญพาน ครูผู้ดูแลกิจกรรมของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 กล่าวว่าเมื่อได้รับการสนับสนุนจาก สสค. คณะครูจึงเข้าไปพูดคุยกับชุมชนโดยรอบโรงเรียนทั้ง 3 หมู่บ้าน เพื่อเรียนรู้และขอให้ชาวบ้านช่วยเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ และฝึกทักษะพื้นฐานอาชีพให้กับเด็กๆ ด้วย
“คณะครูทุกคนที่ช่วยกันทำงานจะต้องลงไปในชุมชน เพื่อไปเรียนรู้เรื่องการทอเสื่อกับชาวบ้าน ไปเรียนรู้ว่าอะไรเรียกว่า ฟืม เรียกว่า หูก หรือ กี่ เรายังโชคดีที่ได้พ่อเคน สินมะลี และ แม่วันนี ยางนอกช่างผู้เชี่ยวชาญในการทอเสื่อทุกรูปแบบมาสอนให้กับเด็กนักเรียนด้วย” ครูเก่งกล่าว
นางวันนี ยางนอก อายุ 56 ปี แม่ครัวประจำโรงเรียนที่ใช้เวลาว่างนำความรู้ในการทอเสื่อกกมาสอนเด็กๆ กล่าวว่า ในสมัยก่อนเมื่อว่างจากการทำนาเราจะมานั่งทอเสื่อเพื่อใช้กันเอง ถ้าทำเหลือใช้ก็จะขาย มีคนขอก็ให้ บางทีก็มีเอาไปอวดในงานบุญบ้าง นำไปโชว์ในงานทางการ งานประจำจังหวัดต่างๆ
“โดยลวดลายที่ทอจะใช้สอนเด็กๆ จะเป็นลายพื้นฐานคือ “ลายกระจับใหญ่” แล้วจึงค่อยๆ พัฒนาไปเป็นลายอื่นๆที่ยากขึ้น เช่น ลายกระจับเล็ก ลายผีเสื้อ และลายนางฟ้า เป็นต้น ก็รู้สึกดีใจและภูมิใจที่เห็นเด็กสนใจ และหันมาทอเสื่อกก เพราะไม่คิดว่าจะมีใครมาสืบสอดต่อแล้ว” แม่วันนีกล่าว
นอกจากนี้ยังได้ประสานงานกับกลุ่มแม่บ้านในชุมชน ให้มาสอนการเย็บจักรอุตสาหกรรมให้กับนักเรียนชั้นมัธยม เพื่อต่อยอดพัฒนาเสื่อกกเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ ปลอกหมอน กระเป๋า ที่รองแก้ว ที่ใส่เอกสาร ฯลฯ โดยปัจจุบันเสื่อกกพับและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากกก ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้สนใจสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะเสื่อกกพับเป็นของขวัญที่ได้รับความนิยมจากชาวอีสานในการนำไปเป็นของฝากของที่ระลึก จนเด็กๆ ไม่สามารถที่จะผลิตได้ปริมาณตามที่ตลาดต้องการได้
“เด็กๆ จะได้ค่าแรงจากการทอเสื่อกกพับ คนละ 50 บาทต่อผืน จากราคาขาย 100 บาท ที่เหลือจะเป็นต้นทุนในการทำวัตถุดิบ ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการทอเสื่อครั้งต่อไป” ครูจิติรัตน์ระบุ
ด.ช.นันทวัฒน์ สารมานิตย์ นักเรียนชั้น ป.5 เล่าว่า “ชอบการทอเสื่อเพราะเห็นยายทอทำให้สนใจทำมาตั้งแต่ ป. 3 แต่ยายไม่ให้ทำ พอได้มาทำที่โรงเรียนก็รู้สึกสนุกดี มีเพื่อนมาร่วมทำด้วย โดยชอบขั้นตอนการย้อมสี เพราะจะย้อมสีออกมาแล้วได้สีที่สวยตามแบบเราต้องการ”
น.ส.นิศานาถ ภาสดา นักเรียนชั้น ม.3 เล่าว่า ในชุมชนยังมีการทอเสื่อยู่บ้าย โดยเมื่อมีเวลาว่างก็จะไปช่วยคุณยายและคุณป้าทอเสื่ออยู่เป็นประจำ แต่เมื่อโรงเรียนมีการสอน ก็ทำให้เรารู้จักลวดลายต่างๆ มาขึ้น และยังเรียนรู้หลายๆ อย่างทั้งการทอเสื่อ จักกก และการเย็บเสื่อ
“ขั้นตอนที่ยากที่สุดคือการนับฟืม แต่พอทำได้แล้วก็รู้สึกสนุก ไม่คิดว่าเป็นเรื่องเชย เพราะมองว่าเป็นศิลปะ มีลวดลายสีสันสวยงาม และยังช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย ในอนาคตอยากเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ จะได้นำความรู้กลับมาออกแบบลายบนแบบฟืมให้สวยขึ้น” น้องนิศานาถกล่าว
“โครงการนี้มีประโยชน์มาก ถึงแม้ว่าในระยะแรกๆ เด็กๆ อาจจะยังยึดเป็นอาชีพไม่ได้ในทันที เพราะอยู่ในขั้นของเพิ่งเริ่มฝึก และจำหน่าย แต่ทางโรงเรียนก็จะยังให้การสนับสนุนต่อไป เพราะเชื่อมั่นว่าทักษะวิชาชีพและความรู้ที่ที่เขาได้รับจากโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตของเด็กๆ ต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน” นายบำรุง นวลประจักร์ ผอ.รร. กล่าวปิดท้าย.