กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่างๆ นอกจากนี้ ยังดำเนินธุรกิจในลักษณะการเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศ เตรียมเสนอขายไอพีโอ 374.57 ล้านหุ้น ระดมทุนขยายกิจการทั้งในและต่างประเทศ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยมี บล. เคที ซีมิโก้, บล. ฟินันซ่า และ บล. ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า GPSC ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 374.57 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ต่อหุ้น (พาร์) 10 บาทแล้ว โดยมี บล. เคที ซีมิโก้, บล. ฟินันซ่า และ บล. ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ทั้งนี้คาดว่า GPSC จะสามารถระดมทุนและเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ได้ภายในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ โดยวัตถุประสงค์ในการเสนอขายหุ้นเพื่อจะนำเงินไปใช้ในการขยายกิจการในธุรกิจต่างๆ ของ GPSC ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของ GPSC
GPSC ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่างๆ โดย มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ประมาณ 1,315 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 1,345 ตันต่อชั่วโมง น้ำเย็นรวมประมาณ 12,000 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 2,080 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ เมื่อรวมกับกำลังการผลิตตามสัดส่วนการ ถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีกประมาณ 536 เมกะวัตต์ และไอน้ำรวมประมาณ 167 ตันต่อชั่วโมง บริษัทจะมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น ตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 1,851 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 1,512 ตันต่อชั่วโมง น้ำเย็นรวมประมาณ 12,000 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 2,080 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยกลุ่มลูกค้าหลักของเรา ได้แก่ (1) กฟผ. กฟภ. และกฟน. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นรายได้ที่มีความแน่นอน เนื่องจากเป็นการซื้อขายภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาวที่มีการกำหนดปริมาณและสูตรราคารับซื้อที่แน่นอน และ (2) ลูกค้าอุตสาหกรรม
นายนพดล กล่าวเสริมว่าล่าสุดได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในนิเวศอุตสาหกรรมวนารมย์ กลุ่ม ปตท. สำหรับการพัฒนาโครงการศูนย์ผลิตสาธารณูปการ แห่งที่ 4 (CUP 4) ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จ.ระยอง โดยเป็นโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration power Plant) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 40 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำประมาณ 70 ตันต่อชั่วโมง โดยมีแผนที่จะจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ เพื่อรองรับการเติบโตของโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นภายในนิเวศอุตสาหกรรมวนารมย์ และนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง โดยโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 3,670 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทฯ ได้วางแผนให้มีการเชื่อมต่อระบบจัดส่งผลิตภัณฑ์ไปยังศูนย์ผลิตสาธารณูปการแห่งอื่นอันจะเสริมสร้างความมั่นคงของระบบการผลิตและจำหน่ายของบริษัทฯ ให้สูงขึ้น บริษัทคาดว่าการก่อสร้างของ CUP 4 Phase-I จะแล้วเสร็จพร้อมจ่ายสาธารณูปโภคได้ภายในปี 2560 พร้อมยังสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมรองรับความต้องการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายนพดล กล่าวต่อไปว่า GPSC มุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชีย ด้วยการขยายการลงทุนและพัฒนาโครงการทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายระยะสั้นที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มจากปัจจุบันอีก 600 – 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2562 โดยเน้นการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า และลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration Power Plant) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined Cycle Power Plant) และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่ตั้งไว้ GPSC ได้กำหนดกลยุทธ์ในการเติบโตทางธุรกิจ เป็น 4 แนวทางหลัก ดังนี้
1) การเติบโตไปพร้อมกับการขยายธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้างความมีเสถียรภาพด้านไฟฟ้าและสาธารณูปโภคต่อกระบวนการผลิตของบริษัทต่างๆ ในกลุ่ม ปตท.
2) การเติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการพัฒนาโครงการระยะสั้น หรือการเข้าซื้อกิจการ เพื่อให้ GPSC สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ในระยะสั้น GPSC จึงมีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก๊าซชีวภาพ และชีวมวล ซึ่งใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างค่อนข้างสั้น นอกจากนี้ GPSC มีนโยบายที่จะเข้าซื้อกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน (Merger & Acquisition: M&A) ในโครงการผลิตไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ทั้งที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วหรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยล่าสุดได้เข้าลงทุนในบริษัท Ichinoseki Solar Power - 1 GK ในสัดส่วน 99% เพื่อดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 18 เมกะวัตต์ ตามที่ได้รับการอนุมัติจาก Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ของประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี บริษัทมีแผนที่จะยื่นขออนุญาตขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 20 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2560
3) การเติบโตโดยการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียง เพื่อให้ GPSC สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ในระยะยาว GPSC จึงมีแผนที่จะพัฒนาและร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียง เช่น เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นต้น
4) การลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง นอกจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า GPSC มีแผนขยายธุรกิจไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ (Energy Storage System and Battery) โดย GPSC ได้เข้าร่วมลงทุนใน 24M Technology Inc. ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบธุรกิจหลักในการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ประเภทลิเทียม-ไอออน (Lithium-Ion) ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Company: ESCO) ซึ่งให้บริการแบบครบวงจรด้านการอนุรักษ์พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน รวมทั้งการลงทุนพัฒนาโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นตลาดในต่างประเทศที่ยังไม่มีโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าที่ครอบคลุม เพื่อขยายความต้องการใช้ไฟฟ้าและเพิ่มโอกาสในการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อต่อยอดจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง