กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--
ปัญหามะนาวแพงในหน้าร้อนเป็นปัญหาระดับชาติ ขนาดนายกรัฐมนตรีออกมารับกระแสด้วย เกือบทุกครั้ง พล อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แนะนำว่าถ้าประชาชนจะต่อสู่กับปัญหามะนาวแพง ก็ลองหันมาปลูกมะนาวกินเอง หรือก่อนหน้านั้นยุคนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา ให้เลือกใช้มะม่วงเปรี้ยว หรือมะขามแทนมะนาวไปพลางๆก่อน
ความพยายามในการปลูกมะนาวออกนอกฤดู ถือเป็นความท้าทายความรู้ความสามารถทาง ภาคการเกษตรแขนงหนึ่งที่จะออกมาสู้กับปัญหามะนาวแพง แต่กับเรื่องต้นพันธุ์มะนาวตรงนี้ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ น้องนศ.ปวช.ปี2 วิทยาลัยการอาชีพนางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ได้มองเห็นช่องทางอาชีพนี้ ได้ใช้วิธีขยายพันธุ์มะนาวด้วยวิธีเสียบกิ่งบนต้นส้มโอขึ้น
นายวิทยา บุตรศรี ตัวแทนจากวิทยาลัยการอาชีพนางรอง เล่าว่า มะนาวเป็นผลิตผลทางการเกษตร ที่บริโภคกันทั้งประเทศ บางช่วงราคาจะแพงมาก และปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรประสบก็คือต้นตอมะนาวไม่แข็งแรง ทางกลุ่มจึงคิดหาวิธีขยายพันธุ์เพื่อให้ได้ต้นตอมะนาวที่แข็งแรงและทนต่อโรค ซึ่งพบว่าวิธีเสียบกิ่งมะนาวกับต้นส้มโอ จะช่วยเสริมรากให้ต้นมะนาวแข็งแรง มีความทนทานต่อโรค และมีผลขนาดใหญ่ จึงชักชวนเพื่อนในกลุ่ม 7 คน ไปเรียนรู้วิธีเสียบกิ่งมะนาวที่ศูนย์มีชัย บ้านหนองตาเข้ม อ.เฉลิมพระเกรียติ กลับมาลองผิดลองถูก จนสามารถขยายพันธุ์มะนาวได้สำเร็จ จากนั้นมาร่วมกันได้ก่อตั้งบริษัท ครบวงจร 2014 จำกัด ขึ้น รวมหุ้นคนละ 1,000 บาททำธุรกิจเพาะพันธุ์ต้นมะนาวบนต้นส้มโอขายอย่างจริงจัง
“วิธีเสียบกิ่งมะนาวบนส้มโอนั้น ขั้นตอนแรกต้องเริ่มเพาะต้นส้มโอจากเมล็ดก่อน จนต้นส้มโอโต มีอายุ 1 เดือนขึ้นไปสามารถนำมาใช้เสียบกิ่งมะนาวได้ โดยเลือกใช้กิ่งพันธุ์มะนาวพันธุ์แป้นพิจิตร ส่วนส้มโอใช้พันธุ์โชกุน หรือพันธุ์อิสราเอล กิ่งพันธุ์มะนาวที่ใช้ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ขั้นตอนสำคัญคือการเสียบกิ่งต้องตัดปาดกิ่งมะนาวแบบทะแยงมุมแล้วเสียบลงบนต้นส้มโอ ใช้สก๊อตเทปพันเพื่อกันเชื้อรา จากนั้น ใช้ถุงพลาสติกใสคลุม ทิ้งไว้ 34 วัน เพื่อให้ต้นไม้คายน้ำ และให้น้ำไหลกลับคืนเข้าต้นส้มโอ ซึ่งเพื่อนในกลุ่มทำได้เกือบทุกคน เพราะทางบ้านมีอาชีพทำสวนมะนาวอยู่แล้ว ซึ่งกิ่งมะนาวบนต้นส้มโอตั้งราคาขายไว้ที่ 150 บาท ทั้งนี้ เมื่อต้นพันธุ์เติบใหญ่จนให้ผลผลิตจะเป็นต้นพันธุ์มะนาว ไม่ได้เป็นต้นส้มโอแต่อย่างใด” นาย วิทยา เล่าเทคนิคการเสียบกิ่งมะนาว
บริษัทครบวงจรยังคิดต่อยอดไปอีกว่า การปลูกพืชต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จึงไปศึกษาหาความรู้วิธีเลี้ยงไส้เดือน เพื่อเอามูลมาทำปุ๋ย และนำมาขยายเป็นธุรกิจต่อ โดยจำหน่ายในราคากก.ละ 30 บาท นอกจากนี้ ยังได้ผลิตเครื่องคัดมะนาว โดยนำความรู้วิชาช่างเชื่อมของเพื่อนในวิทยาลัยมาต่อยอด ผลิตออกมาจำหน่ายราคาเครื่องละ 19,000 บาท มีความสามารถในการคัดมะนาวได้ 100 ลูกต่อ1 นาที ขณะนี้จำหน่ายไปได้แล้ว 6 เครื่อง
น้องๆ จากบริษัท ครบวงจร 2014 จำกัดเริ่มทำมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2557 ล่าสุดได้แบ่งปันผลกำไรให้สมาชิกไปแล้วคนละ 6,920 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายและชำระเงินกู้ และยังนำเงินรายได้ไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ (38,061 บาท ) จัดสรรทุนอบรมการขยายพันธุ์พืชให้แก่ นักเรียนโรงเรียนโสตศึกษา จ.สุรินทร์ และผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำนางรอง และจัดซื้อคอมพิวเตอร์มอบให้แก่ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านทรัพย์ทรายทอง อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์
ผลจากการประกอบธุรกิจไม่เพียงแต่สร้างรายได้ระหว่างเรียน แต่ยังก่อให้เกิดความรู้ขึ้นในชุมชน จนส่งผลให้ บริษัทครบวงจร 2014 จำกัด ได้รับรางวัล ชนะเลิศจากการประกวดโครงการกรุงไทย ยุววาณิช ที่ธนาคารกรุงไทยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 ร่วมกับ ทีมจากโรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา จ.เลย โดยได้รับทุนการศึกษา 390,000 บาท โล่รางวัล และประกาศนียบัตร พร้อมทั้งศึกษาดูงานต่างประเทศ
ทั้งนี้ โครงการกรุงไทย ยุววาณิช จัดขึ้น เพื่อจุดประกายและสร้างเยาวชนที่มีคุณธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวคิดทุนทางปัญญาไม่มีวันหมด โดยเน้นให้เยาวชนในระดับมัธยมศึกษาและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้มีเวทีในการฝึกปฏิบัติการดำเนินธุรกิจ มีความสนใจและตื่นตัวที่จะใช้ความคิด ความรู้ที่มีอยู่ประกอบกับการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วนำมาปฏิบัติจริงให้เป็นรูปธรรม
นางศิริพร นพวัฒนพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มการตลาดและสื่อสารองค์กร สายงานการตลาดและสื่อสารองค์กร ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการกรุงไทย ยุววาณิช ต้องการสนับสนุนให้เยาวชนได้ประกอบธุรกิจจริง และภายในโครงการทุกโรงเรียนจะต้องแบ่งงบประมาณหรือผลกำไรไปทำกิจกรรมทางสังคมด้วย อีกทั้งยังสามารถต่อยอดได้จริง โดยธนาคารจะช่วยบ่มเพาะหลักการทำธุรกิจให้เยาวชน เด็กๆจะรู้ทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจ รวมทั้งการทำงานเป็นทีม ที่จะต้องมีการแบ่งหน้าที่กัน ซึ่งเยาวชนสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ในอนาคตเมื่อจบการศึกษามา อยากทำธุรกิจก็สามารถทำได้เลย
“สิ่งที่ประทับใจและน่าชื่นชม คือนักเรียนสามารถนำความคิดทันสมัยของพวกเขามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งสินค้าที่เด็กๆ นักเรียนได้ทำสะท้อนให้เห็นถึงความหวงแหน และเห็นคุณค่าภูมิปัญญาของไทยมากขึ้น โดยรู้จักนำภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า มีราคา นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงความห่วงใยสิ่งแวดล้อมรอบชุมชน รู้จักเอาของเหลือใช้มาแปรรูปเป็นสินค้า
อย่างไรก็ตาม ตลอด 13 ปี ที่ธนาคารกรุงไทยได้จัดกิจกรรมนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่าเด็กและเยาวชนเหล่านั้นต่างมีศักยภาพ” นางศิริพร กล่าว