กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 1,400 ล้านบาทของ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” ในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัทที่ระดับ “AA-” ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปใช้ในการลงทุนในบริษัทร่วมของบริษัท คือ บริษัท ซี. เค. พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตลอดจนกระแสเงินสดที่แน่นอนจากสัญญาขายน้ำขั้นต่ำระยะยาว ความสม่ำเสมอของความต้องการน้ำประปา และลักษณะของธุรกิจน้ำประปาที่มีความเสี่ยงในการดำเนินงานในระดับต่ำและมีอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทมีภาระหนี้จำนวนมากและความเสี่ยงจากการมีการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เป็นลูกค้าหลักเพียงรายเดียว
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานภาพในการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งและคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเอาไว้ได้ มุมมองในการปรับขึ้นอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดเนื่องจากบริษัทอยู่ในช่วงการลงทุน ทั้งนี้ คุณภาพเครดิตของบริษัทอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบหากบริษัทมีการลงทุนเพิ่มเติมจนส่งผลกระทบด้านลบต่อโครงสร้างเงินทุนและฐานะทางการเงินของบริษัท
ณ เดือนมีนาคม 2558 บริษัททีทีดับบลิวมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประกอบด้วย บริษัท มิตซุย วอเตอร์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (25.98%) บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (19.57%) และ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) (19.04%) ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยกำลังการผลิตทั้งสิ้น 876,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน และให้บริการบำบัดน้ำเสียซึ่งมีกำลังการบำบัด 18,000 ลบ.ม. ต่อวัน นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นในสัดส่วน 25% ใน บริษัท ซี. เค. พาวเวอร์ ด้วย โดยบริษัท ซี. เค. พาวเวอร์ เป็นผู้ถือหุ้น 56% ใน บริษัท เซาท์อีส เอเซีย เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ด้วยกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 615 เมกะวัตต์
บริษัทดำเนินงานโรงผลิตน้ำประปา 3 โรงซึ่งให้บริการน้ำประปาในพื้นที่ 3 เขต คือเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาคร เขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน บริษัทให้บริการน้ำประปาแก่ กปภ. ภายใต้สัญญาซื้อขายน้ำประปาอายุ 25 ปีซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2566 และสัญญาอายุ 30 ปีซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2577 กปภ. มีพันธะในการรับซื้อน้ำประปาจากบริษัทในปริมาณขั้นต่ำจำนวน 675,000 ลบ.ม. ต่อวัน ทั้งนี้ สูตรการคำนวณอัตราค่าน้ำจะเป็นไปตามดัชนีราคาผู้บริโภค นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับสิทธิในการดำเนินการผลิต จำหน่าย และให้บริการน้ำประปา รวมทั้งให้บริการบำบัดน้ำเสียในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินระยะเวลา 30 ปีด้วย โดยสิทธิดังกล่าวจะหมดอายุในปี 2582
บริษัทมีรายได้หลักจากเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาครและเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี โดยมีสัดส่วน 64% และ 31% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2557 ตามลำดับ ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากการมี กปภ. เป็นลูกค้ารายใหญ่เพียงรายเดียว กระนั้น สถานะความน่าเชื่อถือของ กปภ. ก็อยู่ในระดับที่รับได้เนื่องจากมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ นอกจากจะเป็นลูกค้าหลักแล้ว กปภ. ยังเป็นคู่แข่งของบริษัทด้วย เมื่อ กปภ. สร้างโรงกรองน้ำประปาแห่งใหม่และจ่ายน้ำในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่บริษัทให้บริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ยอดจำหน่ายน้ำของบริษัทลดลง ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายน้ำในพื้นที่ปทุมธานีของบริษัทไม่เติบโตในปี 2556 เนื่องจากโรงกรองน้ำแห่งใหม่ของ กปภ. เริ่มดำเนินการผลิตในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ในปี 2557 ยอดจำหน่ายน้ำลดลง 2.6% เนื่องจากมีการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงกรองน้ำแห่งใหม่ของ กปภ. ดังกล่าว อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงดังกล่าวมีปัจจัยลดทอนลงจากการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายน้ำประปาขั้นต่ำกับ กปภ.
ฐานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงหนุนจากการมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำและอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจในระดับสูง แม้ว่าการผลิตน้ำประปาจะใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน แต่ในกรณีที่ต้องสร้างโครงข่ายระบบส่งและจ่ายน้ำประปาแล้ว ผู้ประกอบการต้องใช้เงินลงทุนสูง บริษัทเป็นเจ้าของท่อน้ำประธานและท่อจ่ายน้ำในพื้นที่ให้บริการบางส่วนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้ต้องการเข้ามาเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว การมีแหล่งน้ำที่เพียงพอและคุณภาพของน้ำดิบเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตน้ำประปา แหล่งน้ำที่สำคัญในการผลิตน้ำประปาของบริษัทมาจากแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่มีปริมาณน้ำเพียงพอ แม้แหล่งน้ำแต่ละแห่งจะมีคุณภาพน้ำที่แตกต่างกัน แต่บริษัทก็สามารถนำน้ำไปผลิตเป็นน้ำประปาคุณภาพสูงได้เช่นเดียวกัน
บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเนื่องจากการมีโครงสร้างสัญญาซื้อขายน้ำที่ดีกับ กปภ. อีกทั้งยังมีความต้องการน้ำที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 บริษัทมีรายได้ 5,383 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากปีก่อน ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมีสาเหตุหลักจากการปรับเพิ่มราคาน้ำประปา เนื่องจากปริมาณขายน้ำประปาไม่เติบโต อันเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวและการที่ กปภ. สร้างโรงกรองน้ำแห่งใหม่ ผลกระทบเชิงลบยังต่อเนื่องมาในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 ซึ่งยอดขายน้ำประปาของบริษัทลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี การลดลงดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อรายได้ของบริษัท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของชุมชนเมือง และภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว
บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทอยู่ในระดับสูงกว่า 76% ในช่วงระหว่างปี 2549 จนถึงปี 2557 อัตราการทำกำไรที่แข็งแกร่งดังกล่าวช่วยเสริมสภาพคล่องของบริษัท ในปี 2557 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ระดับ 30.3% และมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อดอกเบี้ยจ่าย 8 เท่า อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนดีขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 51.8% ในปี 2557 เทียบกับ 54% ในปี 2556
ในอนาคต คาดว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้ง รายได้และเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะเติบโตในระดับปานกลางที่ 3%-5% ต่อปีในช่วงปี 2558-2560 โดยเงินทุนจากการดำเนินงานดังกล่าวจะสนับสนุนนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราสูงและโครงการลงทุนบางส่วนของบริษัท โดยคาดว่าบริษัทจะจ่ายเงินปันผลที่ประมาณ 2,000-2,300 ล้านบาทต่อปี ขณะนี้บริษัทอยู่ในระหว่างการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและจ่ายน้ำประปาในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาคร และปทุมธานี มีมูลค่าการลงทุนรวม 3,300 ล้านบาท นอกจากนี้ การออกหุ้นกู้มูลค่า 1,400 ล้านบาท ในครั้งนี้ บริษัทจะนำไปใช้เพื่อเพิ่มทุนใน CKP ตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท เพื่อใช้ในการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี จากส่วนของผู้ถือหุ้นที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 50%-54% ในช่วงปี 2558-2560
บริษัทยังคงมีสภาพคล่องที่ดี โดย ณ สิ้นปี 2557 บริษัทถือเงินสดจำนวน 4,212 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมเงินจำนวน 1,171 ล้านบาทที่ต้องสำรองไว้ตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานที่ได้รับจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้น 25% ในบริษัท CKP ซึ่งมีมูลค่า 3,135 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 ด้วย
บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) (TTW)
อันดับเครดิตองค์กร: AA-
อันดับเครดิตตราสารหนี้: TTW162A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AA-
TTW182A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 AA-
TTW192A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 AA-
TTW202A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 AA-
TTW222A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2568 AA-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable