กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
เช้าวันนี้ (พุธ 29 เม.ย. 2558) เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกุ้งไทย จำนวน 9 คน นำโดย นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย และ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย ดร. สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย นายมานิตย์ จิตรชุ่ม นายกสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย ตบเท้าเข้าร่วมยืนหนังสือร้องเรียนฯ ถึง นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุด หลังประสบวิกฤติปัญหาการเลี้ยง/เลี้ยงกุ้งไม่ได้ และถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาราคากุ้งตกต่ำ โดยมีข้อเสนอ 4 ข้อ คือ 1) ขอให้มี โครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไมฯ ปี 2558 2) ให้เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก ทั้งทางตรงและทางอ้อม 3) ช่วยแก้ปัญหาโรคกุ้งตายด่วน อีเอ็มเอส (EMS) และ 4) ขอให้กุ้ง และผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าที่ได้รับการดูแลพิเศษจากภาครัฐ และให้บรรจุเรื่องกุ้งเป็นวาระแห่งชาติ
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ปธ. สมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย เปิดเผยว่า การมายื่นหนังสือถึง ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด โดยผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดต่างๆ โดยพร้อมเพรียง ในวันนี้ เนื่องจากพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง(ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 เป็นรายย่อย) เดือดร้อนหนัก นอกจากเลี้ยงกุ้งกันไม่ได้ ด้วย เจอวิกฤติปัญหาเรื่องโรคที่หนักหนาสาหัสตามที่ทราบกัน ซึ่งยังแก้ไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม/ชัดเจนแล้ว ยังถูกซ้ำเติมด้วยราคากุ้งที่ตกต่ำต่อเนื่อง จนผู้เลี้ยงทั่วปท. จำเป็นต้องออกกันมาร้องท่านให้พิจารณาช่วยเหลือเร่งด่วน ก่อนที่จะตายกันหมด เพราะวิกฤติครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่ออุตฯกุ้งทั้งระบบตลอดสายห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ โรงเพาะฟักลูกกุ้ง ผู้ค้าปัจจัยการผลิตต่างๆ ฟาร์มกุ้ง โรงงานแปรรูปกุ้ง (ห้องเย็น) ผู้ส่งออก อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และส่วนเกี่ยวข้อง (คลัสเตอร์กุ้งทั้งหมดของประเทศ) แล้ว โดยเฉพาะกับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งนอกจากที่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากโรคระบาดฯ ยังต้องเผชิญกับราคากุ้งตกต่ำ (ที่มีแนวโน้มจะตกต่ำลงไปอีก) ส่วนผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปกุ้ง ที่ไม่มีวัตถุดิบเพื่อผลิตแปรรูปเพียงพอ ต้องลดกำลังผลิต/ปิดโรงงาน ผู้ส่งออกไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ด้วยไม่มั่นใจว่าจะได้ของ เป็นต้น
ดร. สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า วิกฤติปัญหานี้ ทำให้ไทยสูญเสียความเป็นผู้นำการส่งออกกุ้งให้กับประเทศคู่แข่ง ที่สามารถผลิตกุ้งได้ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย ปท. กลุ่มละตินอเมริกา และอื่นๆ แล้ว ทั้งที่ที่ผ่านมาสินค้ากุ้งของไทย ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย จากผู้บริโภคอย่างมาก ครองตลาดเป็นที่ 1 ในตลาดที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ มาโดยตลอด หากไม่ได้รับการแก้ไขเร่งด่วนทันการณ์ ไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน สูญเสียตลาด ที่ทำให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยอาจถึงขั้นล่มสลายได้
จากปัญหาความเดือดร้อนอย่างหนัก ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ทุกภาคส่วน ได้แก่ สมาคมสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมกุ้งตะวันออกไทย สมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ค้าปัจจัยการผลิต สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ฯลฯ มีการประชุมหารือเพี่อหาแนวทางการแก้ปัญหาฯ ร่วมกัน ได้ข้อสรุป เพื่อนำเสนอ ฯพณฯ พิจารณาช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุด ดังนี้ 1) ขอให้มี “โครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไมฯ ปี 2558” เพื่อแก้ไขวิกฤติปัญหา ราคากุ้งตกต่ำ โดยให้ คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ก. พาณิชย์ อนุมัติงบประมาณ เข้าแทรกแซง ราคา โดยให้รัฐรับชดเชยราคาส่วนต่างฯ (ให้เริ่มโครงการได้เร็วที่สุด ภายใน 1 เดือน) 2) เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ย/ดอกเบี้ยพิเศษ ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ เพิ่มวงเงินสินเชื่อ และ/หรืออื่นๆ รวมถึง การส่งเสริมการส่งออก เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยให้รัฐบริหารจัดการให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เป็นต้น 3) แก้ปัญหาโรคกุ้งตายด่วน อีเอ็มเอส (EMS) ให้กรมประมง และ หน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งหาวิธีการจัดการเลี้ยงที่เหมาะสม กับพื้นที่ โดยขอให้รัฐบาล สนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ และ 4) ขอให้กุ้ง และผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าที่ได้รับการดูแลพิเศษจากภาครัฐ และให้บรรจุเรื่องกุ้งเป็นวาระแห่งชาติ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าว
“... กุ้ง เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าส่งออกสำคัญ ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศกว่าร้อยละ 90 ในการผลิต ที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาลมาอย่างต่อเนื่อง เคยถึงปีละกว่าแสนล้านบาท สร้างงานอาชีพให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยง อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่วนเกี่ยวข้องและครอบครัวจำนวนมาก นอกจากข้อเสนอข้างต้น ที่จำเป็นเร่งด่วนแล้ว พวกเราอยากให้มีผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล ที่มีอำนาจตัดสินใจดำเนินการต่างๆ มาเป็นผู้นำมากำกับดูแลบริหารจัดการเป็นการเฉพาะ เมื่อมีเรื่องสำคัญเร่งด่วน สามารถพิจารณาดำเนินการจัดการ/แก้ไขปัญหาได้ทันที ทันการณ์ และเกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ที่สำคัญอยากให้สินค้ากุ้งได้รับการดูแลพิเศษจากรัฐ รัฐเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง และช่วยปกป้องอุตสาหกรรมกุ้งไทยอย่างเต็มที่ ...” นายบรรจง กล่าวทิ้งท้าย