GPSC จัดพิธีลงนาม แต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO)

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 7, 2015 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เคาะขายไอพีโอที่ 27 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อวันที่ 8, 11 และ12 พ.ค. 2558 และได้ฤกษ์ดีเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) วันที่ 18 พ.ค. นี้ โดยแต่งตั้ง บล. เคที ซีมิโก้, บล. ฟินันซ่า และ บล. ทิสโก้ เป็นแกนนำจัดจำหน่ายหุ้นจำนวน 374,575,200 หุ้น มั่นใจกระแสตอบรับจากนักลงทุนดีเยี่ยม ปัจจัยพื้นฐานแกร่ง เป็นผู้นำในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่างๆ ขนาดกลางที่มีคุณภาพและแข็งแกร่ง ผู้บริหารมีประสบการณ์ยาวนาน และมีทั้ง ปตท. และไทยออยล์ เป็นผู้ถือหุ้นหลัก ด้าน "นพดล ปิ่นสุภา" เผยนำเงินไปใช้ในการขยายกิจการในธุรกิจต่างๆ ของ GPSC ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของGPSC นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะตัวแทนของผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งประกอบด้วย บล. เคที ซีมิโก้, บล. ฟินันซ่า และ บล. ทิสโก้ เปิดเผยว่า ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 374.58 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10.00 บาท ในราคาหุ้นละ 27 บาท ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน กำหนดเปิดให้จองหุ้นเพิ่มทุนระหว่างวันที่ 8-12 พฤษภาคมนี้ และคาดว่าสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายว่า "GPSC" พร้อมกันนี้ยังมี บมจ. หลักทรัพย์ บัวหลวง, บมจ. หลักทรัพย์ กสิกร, บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ประเทศไทย, บมจ. หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส, บมจ. หลักทรัพย์ เคจีไอ และ บมจ. หลักทรัพย์ อาร์เอชบี โอเอสเค เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ด้วย “GPSC ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่างๆ โดยมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ประมาณ 1,315 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 1,345 ตันต่อชั่วโมง น้ำเย็นรวมประมาณ 12,000 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 2,080 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ เมื่อรวมกับกำลังการผลิตตามสัดส่วนการ ถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีกประมาณ 536 เมกะวัตต์ และไอน้ำรวมประมาณ 167 ตันต่อชั่วโมง บริษัทจะมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น ตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 1,851 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 1,512 ตันต่อชั่วโมง น้ำเย็นรวมประมาณ12,000 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 2,080 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยกลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ (1) กฟผ. กฟภ. และกฟน. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นรายได้ที่มีความแน่นอน เนื่องจากเป็นการซื้อขายภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาวที่มีการกำหนดปริมาณและสูตรราคารับซื้อที่แน่นอน และ (2) ลูกค้าอุตสาหกรรม GPSCนอกจากจะมีการเติบโตด้านกำลังการผลิตที่แน่นอนแล้ว ยังมีจุดเด่นในด้านของความสามารถทำกำไรที่โดดเด่นโดยในปี 2556 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 26,517 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.34 จาก 24,937 ล้านบาท ในปี 2555โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายไฟฟ้าเป็นสำคัญ ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นเท่ากับ 1,985 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.64 จาก 1,953 ล้านบาท ในปี 2555 อย่างไรก็ตามแม้ว่ากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นและต้นทุนทางการเงินลดลงจากการชำระคืนเงินกู้ แต่เนื่องจากบริษัทมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและผลเสียหายจากคดีความระหว่างบริษัทและ กฟผ. ที่เกิดจากการตีความตามสัญญาที่ไม่ตรงกัน ซึ่งอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดแล้วในปี 2556 รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นส่งผลให้ปี 2556 บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,166ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.03 จาก 1,241 ล้านบาท ในปี 2555” ในปี 2557 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 23,891 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.92 จาก 26,517 ล้านบาท ในปี 2556 โดยสาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้าตามสัญญา IPP เนื่องจาก กฟผ. สั่งให้โรงไฟฟ้าศรีราชาจ่ายไฟฟ้าในปริมาณที่ต่ำกว่าปริมาณตามสัญญาหรือสั่งให้หยุดผลิตไฟฟ้าเป็นบางช่วง อย่างไรก็ตามจากการสั่งลดปริมาณการผลิตหรือสั่งหยุดผลิตไฟฟ้าดังกล่าว ส่งผลให้ต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิต และค่าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรตามสัญญาซ่อมบำรุงรักษาระยะยาวซึ่งจ่ายตามชั่วโมงการเดินเครื่อง ลดลงเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อกำไรของบริษัท ประกอบกับการที่โรงผลิตสาธารณูปการระยองมีสัดส่วนการขายไอน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรขั้นต้นในปี 2557 เท่ากับ 2,083ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.96 เมื่อเทียบกับ 1,985 ล้านบาท ในปี 2556 ประกอบกับมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและกิจการที่ควบคุมร่วมกันเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่ลดลงจากการชำระคืนเงินกู้ ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ ในปี 2557 เท่ากับ 1,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.58 เมื่อเทียบกับ 1,166 ล้านบาท ในปี 2556 นายวราห์กล่าว นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้ในการขยายกิจการในธุรกิจต่างๆ ของ GPSC ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของ GPSC โดยมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชีย ด้วยการขยายการลงทุนและพัฒนาโครงการทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายระยะสั้นที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มจากปัจจุบันอีก 600 – 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี2562 โดยเน้นการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า และลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration Power Plant) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined Cycle Power Plant) และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน(Renewable Energy) และเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่ตั้งไว้ GPSC ได้กำหนดกลยุทธ์ในการเติบโตทางธุรกิจออกเป็น 4 แนวทางหลัก ดังนี้ 1) การเติบโตไปพร้อมกับการขยายธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้างความมีเสถียรภาพด้านไฟฟ้าและสาธารณูปโภคต่อกระบวนการผลิตของบริษัทต่างๆ ในกลุ่ม ปตท. 2) การเติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการพัฒนาโครงการระยะสั้น หรือการเข้าซื้อกิจการ เพื่อให้ GPSCสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ในระยะสั้น GPSC จึงมีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ เช่น การลงทุนต่อเนื่องใน BIC สาหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration Power Plant) โครงการที่ 2 และร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก๊าซชีวภาพ และชีวมวล ซึ่งใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างค่อนข้างสั้น นอกจากนี้ GPSC มีนโยบายที่จะเข้าซื้อกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน (Merger & Acquisition: M&A) ในโครงการผลิตไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ทั้งที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วหรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3) การเติบโตโดยการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียง เพื่อให้ GPSC สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ในระยะยาว GPSC จึงมีแผนที่จะพัฒนาและร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียง เช่น เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นต้น 4) การลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง นอกจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า GPSC มีแผนขยายธุรกิจไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่(Energy Storage System and Battery) "มั่นใจว่าในอนาคต GPSC จะสามารถเติบโตต่อไปได้อีกมาก จากแผนการเติบโตที่ชัดเจน และการระดมทุนในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้บริษัทมีเงินทุนเพียงพอรองรับการเติบโตตามแผนแล้ว ยังทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์" นายนพดลกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ