โพลล์เผยผลสำรวจความคิดเรื่องการแก้คอรัปชั่นในสังคม

ข่าวทั่วไป Friday May 8, 2015 12:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ได้แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น จำนวน 1,170 คน อายุระหว่าง 25-34 ปี ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยสำรวจระหว่างวันที่ 1-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ศ.ศรีศักดิ์ จามรมาน กล่าวสรุปผลสำรวจว่า สำหรับผลเสียที่เกิดจากการทุจริตคอรัปชั่นต่อประเทศมากที่สุด 5 อันดับตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ประเทศสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์คิดเป็นร้อยละ 81.54 ประชาชนได้รับอันตรายจากการใช้สาธารณูปโภคที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ถนน สะพานคิดเป็นร้อยละ 79.06 ประเทศเสียชื่อเสียงคิดเป็นร้อยละ 76.15 ประเทศไม่ได้รับการพัฒนาคิดเป็นร้อยละ 74.02 และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับคนรุ่นหลังลอกเลียนแบบคิดเป็นร้อยละ 71.62 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 42.14 มีความคิดเห็นว่านักการเมืองคือกลุ่มบุคคลที่มีการทุจริตคอรัปชั่นมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 29.91 ระบุว่าข้าราชการ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.99 ระบุว่าพ่อค้า/นักธุรกิจ สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงโทษผู้ที่กระทำผิดในคดีการทุจริตคอรัปชั่นนั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.49 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษผู้ที่กระทำผิดในคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นในปัจจุบันเบาไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.31 ระบุว่ากำลังพอดี มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 10.34 มีความคิดเห็นว่าหนักไป และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.86 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 79.57 มีความคิดเห็นว่าไม่ควรกำหนดโทษให้รอลงอาญากับผู้ที่กระทำผิดในคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 80.6 เห็นด้วยกับการยกเลิกการกำหนดอายุความในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.02 ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้มีโทษประหารชีวิตกับผู้ที่กระทำผิดในคดีการทุจริตคอรัปชั่นเช่นเดียวกับในบางประเทศ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.87 เห็นด้วย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.03 มีความคิดเห็นว่าการเพิ่มโทษกับผู้ที่กระทำผิดในคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นให้หนักขึ้นจะไม่มีส่วนทำให้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นหมดไปได้ ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 32.56 มีความคิดเห็นว่ามีส่วน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.14 ไม่แน่ใจ และกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.79 มีความคิดเห็นว่าสังคมไม่ควรให้โอกาสกับผู้ที่เคยกระทำผิดในคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นหากผู้นั้นแสดงความสำนึกผิด ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.07 มีความคิดเห็นว่าควร ส่วนวิธีการที่จะสามารถมีส่วนช่วยทำให้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นหมดไปจากประเทศไทยได้ตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างสูงสุด 3 อันดับคือ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังโดยไม่เลือกปฏิบัติ คิดเป็นร้อยละ 82.22 เอาผิดผู้ที่มีพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่นอย่างเด็ดขาด คิดเป็นร้อยละ 80.09 และพิจารณา/ตัดสินคดีทุจริตคอรัปชั่นให้รวดเร็ว คิดเป็นร้อยละ 76.41 ด้านความรู้สึกของกลุ่มสำรวจอายุระหว่าง 19-22 ปี การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ทำแบบสำรวจระหว่างวันที่ 12-19 พฤศจิกายน 2556 สรุปกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 30.42 รู้สึกรังเกียจบุคคลที่มีพฤติกรรมทุจริต คดโกง คอรัปชั่น และมีเพียงร้อยละ 4.52 เท่านั้นที่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ