กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค
นโยบายที่เอื้อหนุนสามารถกระตุ้นการส่งมอบผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคมจากโมบายบรอดแบนด์ พร้อมช่วยให้ไทยสามารถบรรลุนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) ได้เปิดเผยรายงานวิจัยล่าสุด ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของนโยบายของรัฐบาลไทยที่มีศักยภาพยกระดับการเข้าถึงโมบายบรอดแบนด์และฟิกซ์บรอดแบนด์ได้สูงถึง 133% ภายในปี2563 (1) พุ่งขึ้น 52% ในปี 2556 การเติบโตดังกล่าวจะส่งผลให้จีดีพีของไทยพุ่งสูงรวมกันถึง 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (7.3 แสนล้านบาท) ขณะที่การยกระดับการเข้าถึงโครงสร้างโมบายบรอดแบนด์พื้นฐานจะก่อให้เกิดการสร้างงานใหม่ๆ อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบดิจิทัล และเร่งเดินหน้าสู่เป้าหมายตามนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลไทย
“โมบายบรอดแบนด์เป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลไทย เพื่อเปลี่ยนประเทศให้เป็นเศรษฐกิจดิจิทัลและส่งเสริมเครือข่ายดิจิทัลในประเทศ ดังที่ระบุไว้ในแผนเศรษฐกิจดิจิทัล” มร.ทอม ฟิลลิปส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA)กล่าว “ผลประโยชน์ที่ได้จากการเข้าถึงโมบาย บรอดแบนด์นั้นมหาศาล ทั้งช่วยยกระดับผลิตภาพขับเคลื่อนการสร้างธุรกิจและตำแหน่งงานใหม่ๆที่ต้องใช้ทักษะ ตลอดจนเป็นช่องทางในการให้บริการดูแลสุขภาพและการเงินผ่านมือถือ และก่อให้เกิดระบบเมืองอัจฉริยะ ทั้งนี้ ไทยจะสามารถบรรลุศักยภาพของโมบายบรอดแบนด์ได้ ก็ต่อเมื่อมีการเปิดตัวระบบ 4G ควบคู่กับนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันได้อย่างแท้จริง ทรงพลัง และขับเคลื่อนด้วยการลงทุน”
รายงานของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) ในหัวข้อ “Building Thailand’s Digital Economy and Society” ซึ่งพัฒนาโดย Analysys Mason ชี้ให้เห็นถึงขอบข่ายสำคัญหกประการ ที่จำเป็นต้องมีนโยบายและการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อทำให้มั่นใจว่าโมบายบรอดแบนด์จะสามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ:
- จัดหาการเข้าถึงที่เป็นธรรมและโปร่งใสในส่วนของคลื่นความถี่ของมือถือ โดยใช้ระบบออกใบอนุญาตแทนสัมปทาน
- ดำเนินการอนุญาติให้ใช้ความถี่ 900MHz และ 1800MHz เพื่อขยายบริการเครือข่ายมือถือ 3G และ 4G หลังปริมาณการใช้ 3G ในไทยบ่งชี้ถึงความต้องการโมบายบรอดแบนด์
- วางแผนเพื่อการจัดการความถี่ 700MHz ให้สอดคล้องกับระบบมือถือที่ใช้กันทั่วโลก เพื่อขยายความครอบคลุมในเขตเมืองและพื้นที่ชนบทซึ่งปัจจุบันนับว่าไม่เพียงพอ
- ก่อตั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจ และโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกับรัฐวิสาหกิจ ผ่านกระบวนการที่โปร่งใสและการปรึกษาหารือกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการลงทุนในเทคโนโลยีล้ำสมัยและการให้บริการ
- รักษาความเป็นอิสระของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยทำให้มั่นใจว่าโครงสร้างและการดำเนินงานของหน่วยงานนั้นเหนือการควบคุมของรัฐบาล และดำเนินงานอย่างมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุน
- ริเริ่มนโยบายที่นำโดยรัฐบาล เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่ออินเทอร์เน็ตและการรู้เท่าทันโลกดิจิทัล พร้อมส่งเสริมการใช้โมบายบรอดแบนด์ในหมู่ประชาชนชาวไทยื
ประเทศไทยมีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายมือถือ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยโครงการทางด่วนข้อมูลการเกษตรของดีแทคนั้น ได้มอบช่องทางเข้าถึงให้กับเหล่าเกษตรกรถึง 250,000 ราย เพื่อใช้สืบค้นข้อมูลทางการเกษตรที่จำเป็น ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพของผลผลิตและกำไร ในทำนองเดียวกัน บริการทรูมันนี่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานราว 25 ล้านคนสามารถดำเนินการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และขณะนี้กำลังขยายให้ครอบคลุมบริการชำระเงินแบบตัวต่อตัวสำหรับลูกค้าที่ไม่มีบัญชีธนาคาร การยกระดับเครือข่าย4G ในไทยจะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการต่อยอดการให้บริการของกลุ่มผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือในขอบข่ายต่างๆ เช่น บริการชำระเงินบนมือถือและการซื้อขายบนโลกดิจิทัล เช่นเดียวกับการสร้างบริการใหม่ๆเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนในพื้นที่
“เราขอให้ทางคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลหันมาพิจารณาภาคเครือข่ายมือถือเป็นเครื่องมือสำคัญ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ” มร.ฟิลลิปส์ กล่าวต่อ “เนื่องจากมีชาวไทยและภาคธุรกิจเป็นเดิมพัน เราจึงไม่สามารถล้มเหลวได้”
สามารถรับชมรายงานฉบับเต็มได้ที่: http://www.gsma.com/spectrum/thailandsdigitaleconomy/