เครื่องสำอางยุคใหม่ใช้ไมโครแคปซูลในการควบคุมการนำส่งและปลดปล่อยสาร

ข่าวเทคโนโลยี Friday August 22, 1997 08:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--22 ส.ค.--จุฬาฯ
เทคโนโลยีการนำส่ง (delivery system) สารต่างๆ ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ต้องการให้สารนั้นไปถึง ได้ถูกนำไปใช้ในทางยาได้อย่างได้ผล ปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนานำเทคโนโลยีการนำส่งมามใช้ในด้านเครื่องสำอาง เพื่อควบคุมการปลดปล่อยสารที่ใช้ในเครื่องสำอางในปริมาณที่ต้องการ และสามารถปลดปล่อยสารนั้นทีละน้อยได้เป็นเวลานานตามความต้องการ เรียกว่าเป็นเทคโนโลยีควบุมการปลดปล่อยสาร (controlled release technology) เทคโนโลยีนี้เป็นที่นิยมในการนำมาพัฒนาเครื่องสำอางให้นำส่งสารที่มีคุณค่าต่อผิวหนังและยากที่จะแทรกซึมเข้าผิวหนังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งสารไปยังส่วนที่ต้องการได้มากขึ้น เป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เครื่องสำอางที่จะได้ใช้ผลิตภัฑ์ที่ดีกว่าเครื่องสำอางค์แบบเดิมๆ
เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ อาศัยหลักการเคลือบห่อหุ้มเพื่อกักเก็บสารที่ต้องการนำส่งไว้ในรูปอนุภาคขนาดเล็ก ตั้งแต่ 1-500 ไมครอนหรือไมโครเมตรโดยประมาณ (ก็คือขนาดตั้งแต่ตาเปล่ามองไม่เห็นจนเห็นได้ใหญ่ที่สุด 0.5 มิลิเมตร) โดยเคลือบด้วยสารโพลิเมอร์ (polymer) บางชนิดที่เตรียมได้จากธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์ ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถเกิดเป็นฟิล์มบางห่อหุ้มเคลือบสารที่ต้องการไว้ได้ และนำส่สารนั้นๆ ได้ในสภาวะที่เหมาะสม เทคนิคดังกล่าวเรียกว่า ไมโครเอนแคปซูเลชัน (microencapsulation) อนุภาคเล็กๆ ของสารที่ถูกเคลือบห่อหุ้มไว้เรียกว่า ไมโครแคปซูล (microcapsules)
รองศาสตราจารย์ สุชาดา ประเสริฐวิทยาการ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า ไมโครแคปซูลดังกล่าวนี้ จะทำหน้าที่เป็นตัวพาในการนำส่งสารที่มีคุณค่าต่อผิวหนังได้แล้ว และทำหน้าที่ควบคุมการปลดป่อยสารให้มีประสิทธิภาพอยู่ได้ในเวลานานขึ้น นอกจากนี้ไมโครแคปซูลยังมีคุณประโยชน์ในการปกป้องสารที่ใช้ในเครื่องสำอางบางชนิดที่ไม่คงตัวคืออาจเสื่อมสลายได้จากสภาพแวดล้อม เช่น วิตามินซี ไมโครแคปซูลบางชนิดช่วยลดการระคายเคืองผิวหนังของสารบางชนิดที่ใช้ในเครื่องสำอางได้ เช่น ไมโครแคปซูลของ AHA (Alpha-Hydroxy Acids) ซึ่งเป็นกรดผลไม้ที่นิยมนำมาใช้ในเครื่องสำอางในการกระตุ้นการผลิตเซลล์ผิวใหม่ ทำให้ผิวหน้าขาวเนียนขึ้น แต่อาจทำให้ผู้มีสภาพผิวไวหรือแพ้ได้ง่ายเกิดการระคายเคืองได้
ไมโครแคปซูลที่เตรียมจากสารโพลิเมอร์ต่างชนิดกันจะมีคุณสมบัติในการกักเก็บและปลดปล่อยสารได้ต่างกัน ทำให้ต้องใช้เทคนิคในการเตรียมไมโครแคปซูลแตกต่างกัน เทคนิคการเตรียมมีหลายๆ วิธี ซึ่งได้มีการพัฒนาเครื่องมือในการเตรียม ทำให้สามารถเตรียมไมโครแคปซูลได้ไม่ยากในปัจจุบัน
สารที่ใช้ในเครื่องสำอางและนำมาเตรียมในรูปไมโครแคปซูล อาทิ AHA วิตามินต่างๆ ซึ่งมีคุณสมบัติบำรุงผิว เช่น วิตามินอี ตลอดจนน้ำหอมและน้ำมันที่เตรียมจากพืชที่มีคุณสทมบัติให้ความชุ่มชื่นแก่ผิว ไมโครแคปซูลเหล่านี้สามารถนำมาผสมลงในเครื่องสำอางรูปแบบต่างๆ หลายชนิด ทั้งเครื่องสำอางแต่งหน้า เช่น แป้ง อายแชโดว์ ลิปสติก เครื่องสำอางบำรุงผิวต่างๆ ผลิตภัณฑ์ใช้กับผม เช่น แชมพู และคอนดิชันเนอร์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว เช่น โฟมหรือเจลล้างหน้าหรือใช้อาบน้ำ
ไมโครแคปซูลของน้ำมันบำรุงผิวเมื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมของแป้งรองพื้นหรือแป้งแข็ง สามารถติดทนนานและให้คุณสมบัติบำรุงความชุ่มชื่นแก่ผิวได้ดีไมโครแคปซูลของน้ำหอมจะทำให้กลิ่นติดทนนานขึ้น มีการนำไมโครแคปซูลของน้ำหอมมาใช้กับผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นตัว จะสามารถควบคุมการปลดปล่อยน้ำหอมออกมาช้าๆ โดยอาศัยหลักการธรรมชาติ คือ เมื่อเหงื่อออก สารที่ห่อหุ้มไมโครแคปซูลจะละลายช้าๆ และปลดปล่อยน้ำหอมที่กักเก็บไว้ ทำให้หอมได้ตลอดทั้งวัน
นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีไมโครเอนเอนแคปซูเลชันนี้ไปใช้กับสารที่มีคุณสมบัติทำให้ผิวขาวบางชนิด เช่น วิตามินซี เช่น กรมโคจิกและไฮโดรควิโนน เป็นต้น เนื่องจากสารประเภทนี้มักจะเสื่อมสลายได้ง่ายจากสภาพแวดล้อมเมื่อผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์เครื่องอำอาง และมักเป็นสารที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองแพ้ได้ง่าย การเตรียมเป็นไมโครแคปซูลจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ดี
รองศาสตราจารย์สุชาดา ประเสริฐวิทยาการได้ประชาสัมพันธ์ว่าในโอกาสครบ 80 ปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเภวสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Science University of Tokyo จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านไมโครเอนแคปซูเลชัน ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม 2540 นี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ จะมีนักวิจัยจากประเทศต่างๆ กว่า 23 ประเทศมาร่วมบรรยายและเสนอผลงานวิจัย ซึ่งไมโครเอนแคปซูเลชันนี้มีประโยชน์กว้างขวางมาก ไม่เพียงแต่ประยุกต์ใช้ทางด้านยาและเครื่องสำอางค์เท่านั้น ยังใช้ในด้านเคมีเกษตร เช่น ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ทำให้ปลดปล่อยสารออกมาช้าๆ และนานๆ ได้ ตลอดจนด้านอาหาร และอาหารสัตว์ จึงขอเชิญชวนผู้ผลิตเครื่องสำอาง เภสัชกร นักวิจัยด้านต่างๆ มาร่วมในการประชุมวิชาการนี้ เพื่อช่วยกันนำความรู้และเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาผลิคตภัณฑ์ของตนให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 218-3203-5 โทรสาร 215-4804--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ