กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--มนตรีพีอาร์
โดย นายแพทย์กันย์ พงษ์สามารถ
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันวิทยา และรูมาติสซั่ม
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
โรค SLE คืออะไร?
โรค SLE (systemic lupus erythematosus) หรือเรียกสั้นๆว่าโรคลูปัส เป็นโรคแพ้ภูมิคุ้มตนเองชนิดหนึ่ง ซึ่งภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยถูกกระตุ้นขึ้นมาทำลายเนื่อเยื่อของตนเอง ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบของอวัยวะต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย โดยมักพบที่ไขข้อ ผิวหนัง ไต และระบบประสาท ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่เชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง อาทิ แสงอาทิตย์ ไวรัสบางชนิด ยาบางอย่าง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และปัจจัยทางพันธุกรรมที่มีผลให้ภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาด
อาการทางผิวหนังของโรค SLE พบได้บ่อย และสามารถปรากฏได้หลายรูปแบบ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นฝื่นที่ไวต่อแสง (photosensitivity) ไม่ว่าจะเป็นผื่นระยะเฉียบพลันรูปผีเสื้ออันเป็นที่มาของชื่อโรคหมาป่าสีแดง (lupus = wolf, erythematosus = red) ซึ่งจัดเป็นลักษณะเด่นของโรคนี้ เชื่อกันว่าตำนานนิยายแฟนซีแห่งรัตติกาล vampire-werewolf ก็อาจมีที่มาจากโรคผื่นไวแสงเหล่านี้ (Lupus – werewolf, Porphyria – Vampire) อย่างไรก็ตามผื่นชนิดนี้อาจพบในโรคผื่นไวแสงอื่นๆเช่นกัน ได้แก่ โรคกล้ามเนื้ออักเสบ JDM, โรคผิวหนัง Rosacea ที่คนดังอย่าง Mariah Carey หรือ Bill Clinton ที่มีผื่นดังกล่าว ต้องตรวจวินิจฉัยแยกโรคลูปัส หรือไม่ว่าจะเป็นผื่นแบบกึ่งเฉียบพลัน (subacute cutaneous LE) ที่สามารถพบได้ในโรคลูปัสของทารกแรกเกิดที่ได้รับภูมิคุ้มกันก่อโรคจากมารดาได้เช่นกัน หรือรวมถึงผื่นเรื้อรัง (Discoid LE) ที่ทำให้ผู้ป่วยมีรอยแผลเป็นที่หน้าได้ ล้วนแล้วแต่เป็นผื่นไวแสงทั้งสิ้น
ทั้งสมาคมแพทย์ผิวหนัง และสมาคมแพทย์รูมาติสซั่มในประเทศตะวันตก ต่างก็แนะนำให้ผู้ป่วยโรค SLE ป้องกันตนเองโดยใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค ซึ่งผลิตภัณฑ์กันแดดเหล่านั้นมักมีราคาแพง ทำให้ผู้ป่วยที่มีเศรษฐานะไม่ดีพอไม่สามารถซื้อหามาใช้ป้องกันตนเองได้ เป็นที่น่าเสียดายว่าระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันดังกล่าว เป็นเหตุให้ในทุกๆปีต้องมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเกิดโรคกำเริบขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าร้อนที่มีปริมาณรังสี UV สูงที่สุดในรอบปี
แสงแดดเป็นอันตรายกับโรคลูปัสอย่างไร?
รังสีอัลตร้าไวโอเลตในสงแดดซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความยาวช่วงคลื่นต่ำกว่าแสงที่ตามองเห็น มีพลังงานสูงสามารถทำให้เซลล์ผิวหนังตายเกิดผิวหนังอักเสบไหม้ และซ้ำร้ายยังทำให้ DNA ของเซลผิวหนังถูกทำลาย หรือกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ รังสีอัลตร้าไวโอเลตอาจจำแนกเป็น UVA(320-400 nm), UVB (290-320 nm) และ UVC (220-290 nm) โดยรังสี UVC จะถูกดูดซับบริเวณชั้นบรรยากาศก่อนจะลงมายังพื้นโลก ในขณะที่ UVB และ UVA สามารถผ่านลงมาถึงพื้นโลกได้ รังสี UVB อาจถูกปิดกั้นในวันที่มีเมฆหนา และไม่สามารถทะลุผ่านกระจกได้ ในขณะที่ UVA โดยเฉพาะอย่างยิ่ง UVA 1 นั้นสามารถผ่านชั้นก้อนเมฆ และกระจกมาสู่ผิวหนังของผู้ที่อยู่ในอาคารได้ จากงานวิจัยพบว่ารังสีทั้งสองสามารถทำร้ายเซลล์ผิวหนังได้ โดย UVB เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผิวหนังอักเสบไหม้เกรียมแดด และมีส่วนสำคัญในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อยกลุ่ม Non-melanoma ส่วนรังสี UVA จะกระตุ้นเซลสร้างเม็ดสี melanocyte ทำให้เซลล์ผิวหนังคล้ำแดด และอาจมีส่วนสำคัญในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังจากเซลล์กลุ่มนี้ ทั้งรังสี UVB และ UVA สามารถทำร้าย DNA ของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เซลล์ผิวหนังตาย เป็นผลให้แก่ก่อนวัย หรือไม่เช่นนั้นก็อาจทำให้ mutate เป็นเซลล์มะเร็งดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นได้ อันที่จริงแหล่งกำเนิดของรังสี UV ในอาคาร เช่น จากหลอด fluorescent ก็มีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีชั่วโมงทำงานในอาคารต่อเนื่องยาวนานก็ควรได้รับการป้องกันด้วยเช่นกัน
สำหรับคนปกติเมื่อเซลล์ผิวหนังตาย ร่างกายจะมีกลไกกำจัดเศษซากของเซลล์เหล่านั้น (Apoptotic debris) ออกไปได้ภายในเวลารวดเร็ว แต่สำหรับผู้ป่วยโรคลูปัสกลไกนี้จะทำงานเชื่องช้า หรือไม่สมบูรณ์ เป็นเหตุให้โปรตีนในนิวเคลียสหลากหลายชนิดตกค้างอยู่จนในที่สุดก็กระตุ้นร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อโปรตีนเหล่านั้น เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในวงกว้างไม่เพียงเฉพาะแต่รอยโรคที่ผิวหนัง หากยังสามารถเกิดอาการข้ออักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีอาการทางระบบประสาทสมอง หรืออวัยวะภายในอื่นๆได้อีกด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคลูปัสมักจะต้องได้รับยาที่ทำให้ผิวหนังเปราะบางขึ้น หรือ sensitive กับแสงมากขึ้น เช่น กลุ่มสเตียรอยด์ และกลุ่ม Chloroquine ตามลำดับ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการป้องกันรังสี UV อย่างเหมาะสม
แล้วจะเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดอย่างไรดี?
ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์กันแดดช่วยปกป้องผิวจากรังสี UV ได้ในสองทาง ทางหนึ่งคือสะท้อนแสงที่ตกกระทบผิวหนัง ส่วนอีกทางหนึ่ง คือ ดูดซับรังสี UV ไว้ก่อนที่จะถึงชั้นผิวหนัง
ในสมัยก่อนเราอาจเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดจากค่า SPF ซึ่งบอกถึงระดับการป้องกันรังสี UVB โดยอิงกับค่า Minimal Erythemal Dose ที่เริ่มทำให้เกิด sunburn โดยค่า SPF 15 หมายถึง ผลิตภัณฑ์กันแดดนั้นจะช่วยยืดระยะเวลาที่ผิวหนังของคนปกติจะเริ่มเกิด sunburn ได้นานขึ้น 15 เท่า Skin Cancer Foundation ของสหรัฐแนะนำผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไปสำหรับคนปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และ SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปสำหรับวันที่มีกิจกรรมกลางแจ้ง อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF 30 ก็ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันรังสี UV ได้ดีกว่าผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF 15 สองเท่า โดยพบว่าผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF 15 สามารถดูดซับรังสี UVB ได้ถึง 93% ในขณะที่ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF 30 สามารถดูดซับรังสี UVB ได้ 97% และเมื่อเพิ่มค่า SPF ขึ้นถึง 45 ก็จะดูดซับรังสี UVB ได้เพิ่มขึ้นเพียง 98% เท่านั้น จึงไม่มีประโยชน์อันใดที่จะ label ค่า SPF ให้สูงกว่านั้น จึงเป็นที่มาของประกาศ FDA ว่าการเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดที่ label ค่า SPF สูงกว่า 50 อาจไม่ได้เพิ่มประโยชน์อันใดให้กับผู้บริโภค
งานวิจัยในระยะต่อมาพบว่า UVA ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน แม้จะไม่ทำให้เกิด sunburn แต่รังสี UVA ก็สามารถทำให้เกิดริ้วรอยแก่ก่อนวัยได้ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น จึงเริ่มมีการกำหนดค่ามาตรฐานของการวัดการป้องกันรังสี UVA ขึ้น โดย FDA สหรัฐอเมริกายอมรับผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า critical wavelength 370 nm หรือมากกว่าให้จัดเป็น broad spectrum sunscreen โดยค่าความยาวคลื่นที่สูงสุดที่ถูกดูดซับ 90% ถือเป็นค่า critical wavelength ซึ่งมาจากการทดลองใน lab ในขณะที่ทางยุโรปและเอเชียนิยมใช้ค่าที่วัดจาก human based (in vivo test) มากกว่า โดยอิงจากค่า Persistent Pigment Darkening test (PPD) ซึ่งวัดระดับการป้องกันผิวหนังดำคล้ำจากการสัมผัสรังสี UVA โดยค่า PPD ยิ่งมากยิ่งมีระดับการป้องกันผิวหนังคล้ำแดดได้สูง ส่วนในประเทศญี่ปุ่นจะแสดงค่าการป้องกันรังสี UVA โดยใช้ระบบ Protection Grade of UVA (PA) ซึ่งก็อิงตามระบบ PPD ของยุโรปดังนี้
PA PPD
+ 2-4
++ 4-8
+++ 8-16
++++ > 16
และท้ายที่สุดท่านต้องตระหนักว่าอย่าหาญสู้กับดวงอาทิตย์ จึงควรใช้วิธีการอื่นๆที่สามารถช่วยให้ท่านปลอดภัยจากรังสี UV ควบคู่กันไปด้วย อาทิ
หลีกเลี่ยงการออกแดดในช่วงที่มีรังสี UV สูงที่สุดของวัน ในประเทศตะวันตกจะเป็นช่วงเวลา 10 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น แต่ในประเทศไทยนั้นน่าจะเป็นตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นเป็นอย่างน้อย
หากจำเป็นต้องมีกิจกรรมกลางแจ้ง ควรสวมใส่เสื้อผ้าสีเข้มที่ทอเนื้อแน่นจะดีกว่าใส่เสื้อผ้าสีอ่อนหรือทอห่างบางเบา หรือหากเป็นไปได้อาจเลือก sun-protective clothing โดยดูได้จากค่า UVP (ultraviolet protection rating) บน label ของสินค้า
ควรปกป้องดวงตาโดยการสวมแว่นกันแดดหากต้องมีกิจกรรมกลางแจ้งด้วย
การใส่หมวกหรือกางร่มเมื่อออกแดดจะช่วยลดความเข้มขอรังสี UV ที่สัมผัสผิวหนังได้
พึงระลึกไว้ว่ารังสี UV ไม่ได้มาจากดวงอาทิตย์แต่เพียงแหล่งเดียว หลอดไฟในอาคารสำนักงาน หรือในบ้านของท่านก็เป็นแหล่งของรังสี UV ได้เช่นกัน จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดป้องกันอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
แม้กระจกบ้านหรือรถจะสามารถกรองรังสี UVB ได้ แต่ไม่ป้องกัน UVA จึงควรติดฟิล์มกระจกบ้าน และรถเพื่อป้องกัน UVA ด้วย
สำหรับผู้ป่วยโรค SLE หรือโรคอื่นๆที่ sensitive กับแสง แม้กระทั่งผู้ที่ใช้ยาบางชนิดที่อาจทำให้ผิวหนังของท่านเกิดอันตรายจากรังสี UV ได้มากขึ้นดังที่กล่าวเอาไว้ในตอนต้น ควรให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ ส่วนในระดับสังคมที่เผชิญกับภาวะโลกร้อน และโอโซนในชั้นบรรยากาศถูกทำลายไปมากขึ้น ดังที่ได้เห็นการรณรงค์หยุดการใช้สาร CFC กันมาสักพักหนึ่งแล้วนั้น ก็ควรทบทวนดูว่าเราควรจะช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้อย่างไร ผลิตภัณฑ์กันแดดที่ถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยหรือช่วยแต่เรื่องความสวยงามชะลอวัยในคนปกติ ควรจะพิจารณาให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้ใช้เพื่อป้องกันตนเองในระบบประกันสุขภาพของรัฐหรือไม่ แม้แต่ในเด็กปกติที่เป็นลูกหลานของเราสมควรให้พวกเขาฝึกลูกเสือ เนตรนารีในช่วงที่มีรังสี UV ปริมาณสูงสุดของวันไหม หมวกที่พวกเขาเหล่านั้นสวมใส่ควรเป็นหมวกปีกหรือหมวก beret และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทหารผู้เสียสละ หรือจำเป็นต้องฝึกภาคสนามกลางแจ้งเราได้ป้องกันผู้เสียสละเหล่านั้นอย่างไร สมควรจะมีสวัสดิการผลิตภัณฑ์กันแดดให้แก่ผู้เสียสละเหล่านั้นหรือไม่ และอาจมีเรื่องอื่นๆอีกหลายกรณี คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมน่าจะให้คำตอบได้
หากท่านต้องการติดต่อบริจาคเงินที่มูลนิธิโดยตรง สามารถเดินทางเข้ามาที่มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ตึกนริศราฯ ชั้น 1 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 420/8 ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์/โทรสาร: 02-354-8321 Website: www.thaichf.org