กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ที่มา ส.ส. ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7 – 8 พฤษภาคม 2558 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับที่มาของ ส.ส. ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558 อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และ มีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความเข้าใจของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญเรื่อง การเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วนผสมระหว่างแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้สัดส่วนจากบัญชีรายชื่อเป็นฐาน ในการคำนวณจำนวน ส.ส. ที่พึงจะมีได้ (มาตรา 103 – 107) พบว่า ประชาชน ร้อยละ 9.60 ระบุว่า มีความเข้าใจมาก ร้อยละ 30.08 ระบุว่า ค่อนข้างเข้าใจ ร้อยละ 35.44 ระบุว่า ไม่ค่อยเข้าใจ ร้อยละ 23.92 ระบุว่า ไม่เข้าใจเลย และร้อยละ 0.96 ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในระบบ Open List ที่ผู้ลงคะแนน นอกจากจะเลือกพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ชอบแล้ว ผู้ลงคะแนนมีสิทธิในการระบุว่าต้องการให้ผู้ใดที่มีชื่อในบัญชีนั้นหนึ่งคนได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. (มาตรา 105) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.32 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นรูปแบบการเลือกระบบใหม่ที่มีความน่าสนใจ ทำให้ประชาชนสามารถเลือกคนที่เราต้องการได้อย่างแท้จริง ขณะที่ ร้อยละ 15.04 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นระบบค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยาก และอาจเกิดความไม่โปร่งใส ร้อยละ 40.24 ไม่ระบุ / ไม่แน่ใจ เพราะไม่เข้าใจในระบบ Open List และ ร้อยละ 4.40 ไม่สนใจ/เฉย ๆ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ กลุ่มการเมืองสามารถส่งผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ และผู้สมัคร ส.ส. เขตได้ เพื่อให้กลุ่มต่าง ๆ เข้ามาร่วมในการเมืองมากขึ้น (มาตรา 112) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.20 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการเพิ่มความหลากหลายของผู้สมัคร ทำให้คนใหม่ ๆ ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมกันทำงาน ขณะที่ ร้อยละ 17.84 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ จะดูเป็นการวุ่นวายเกินไป ใช้วิธีแบบเดิมน่าจะดีอยู่แล้ว และร้อยละ 20.96 ไม่สนใจ/เฉย ๆ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 111 (15) ที่ห้ามไม่ให้ ผู้ที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. (ซึ่งอาจจะทำให้อดีตนักการเมืองที่เคยถูกสั่งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองไม่มีสิทธิลงเล่นการเมืองอีกต่อไป) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.80 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ตำแหน่งทางการเมืองถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญระดับประเทศ ถ้าถูกถอดถอนไปแล้วก็ไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือเกี่ยวข้องกับการเมือง ควรตัดขาดไปเลย แล้วนำคนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาทำงาน ขณะที่ ร้อยละ 30.72 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ถ้ามีการปรับปรุงตนเอง หรือประพฤติดีก็ควรให้โอกาส ไม่ควรตัดสิทธิ หากมีการตัดสิทธิ อาจเกิดความขัดแย้งความวุ่นวายทางการเมืองตามมา ร้อยละ 3.36 ระบุว่า ไม่แน่ใจ อยู่ที่ตัวบุคคล และเหตุผลของการถูกถอดถอน และร้อยละ 5.12 ไม่สนใจ/เฉย ๆ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 19.04 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 20.80 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 20.96 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 20.80 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 18.40 ภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 57.28 เป็นเพศชาย ร้อยละ 42.48 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.24 เป็นเพศทางเลือก
ตัวอย่างร้อยละ 7.92 มีอายุ 18 – 24 ปี ร้อยละ 31.36 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 46.40 มีอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 13.68 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 94.88 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.76 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.56 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.80ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 24.00 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 72.16 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 2.96 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.88ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 27.20 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 31.92 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.28 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 26.16 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่าและตัวอย่างร้อยละ 4.32 จบการศึกษา สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.12 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 11.52 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 13.92 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่างร้อยละ 22.40 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 14.72 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 17.52 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 14.24 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ตัวอย่างร้อยละ 4.64 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 16.64 ไม่มีรายได้ ตัวอย่าง ร้อยละ 16.24 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 35.76 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 12.16 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 4.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 5.36 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 9.12 ไม่ระบุรายได้