กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส) กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนรับมือโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดดส่งอาสาสมัครสาธารณสุขลงพื้นที่เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้ประชาชนรู้ปฏิบัติตนอย่างถูกวิธี เพื่อการสุขภาพที่ดี ลดการเสียชีวิตในหน้าร้อน
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ช่วงฤดูร้อนนี้ ถือเป็นภัยชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพ เพราะหากได้รับความร้อนมากและมีระยะเวลานาน จะทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายได้ เสี่ยงต่อการเกิดโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาในปี 2556 พบว่าช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากอากาศร้อน จำนวน 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และในปี 2546 – 2555 พบผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดด 196 ราย เป็นผู้สูงอายุร้อยละ 16 รองลงมาคือผู้มีอาชีพรับจ้าง ผู้มีโรคประจำตัว และดื่มสุรา กรมสบส.ได้ย้ำให้อสม.ลงพื้นที่ ให้คำแนะการปฏิบัติตน โดยให้สังเกตอาการคือ ไม่มีเหงื่อออกแม้อากาศจะร้อนจัด ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก มีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และมีความดันต่ำ เป็นต้น พร้อมเน้นย้ำเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่ 1.เด็กเล็ก 2.ผู้สูงอายุเกิน 65 ปี 3.คนอ้วน 4.ผู้ใช้แรงงานอย่างหนักหรือผู้ที่ออกกำลังกายหนัก ผู้ที่ทำงานกลางแดด 5.ผู้เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือรับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ และ6.ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังมีการขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำและเสียเกลือแร่ ทั้งแอลกอฮอล์ยังไปกระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วขึ้น ทำให้หัวใจทำงานหนัก อาจทำให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้ หากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรหยุดกิจกรรมดังกล่าวทันที
นอกจากนี้ นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวต่อว่า อสม.จะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด วิธีการป้องกันของการเกิดโรค ดังนี้ 1.ควรดื่มน้ำมากๆ ประมาณ 2 ลิตรต่อวัน หลีกเลียงอากาศร้อนชื้น ถ่ายเทไม่สะดวก หากจำเป็นต้องออกแดด ควรสวมแว่นกันแดดหรือใส่หมวก 2.หากจำเป็นต้องออกกำลังกายในช่วงอากาศร้อนไม่ควรหักโหม 3.ควรสวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ง่าย และโปร่งสบาย เช่น ผ้าฝ้าย 4.สำหรับเด็กเล็ก คนชรา และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ในช่วงที่อากาศร้อนมีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด 5.หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ก่อนการออกกำลังกายหรือการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน และ6.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือของมึนเมาทุกชนิด เป็นต้น พร้อมแนะวิธีคลายร้อนที่ถูกต้องดังนี้ เลือกใส่เสื้อผ้า สบายๆ เน้นเสื้อผ้าสีอ่อนๆ เลือกทานผลไม้เช่น แตงโม แตงไทย แคนตาลูป เนื่องจากผลไม้เหล่านี้มีส่วนประกอบของน้ำสูงถึง 95% ควรเปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้อากาศได้ระบายและถ่ายเท และออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ เป็นต้น