กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
ตั้งเป้า 5 ปี ‘โลกปลอดโรคพิษสุนัขบ้า’ แพทย์เสนอขึ้นทะเบียนสุนัข ฉีดวัคซีนในสัตว์ครอบคลุมมากกว่า85% โดยอาศัยความร่วมมือชุมชน เล็งขยายพื้นที่ทั่วประเทศ
นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงวิธีบริหารจัดการที่เหมาะสมเพื่อนำไปสู่โลกปลอดโรคพิษสุนัขบ้าปี ค.ศ. 2020 ในการประชุมวิชาการเรื่อง “การป้องกันโรคด้วยวัคซีนใน 10 ประเทศกลุ่มอาเซียน” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ขณะนี้ได้มีมาตรการเร่งให้มีการฉีดวัคซีนในสุนัขครอบคลุมเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยนำร่องในพื้นที่ลาดกระบัง ได้แก่ แขวงคลองสองต้นนุ่นและแขวงคลองสามประเวศ ซึ่งจากการสำรวจพบมีสุนัขที่ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนมากกว่า 9,000 ตัว
“โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่เกิดจากสัตว์สู่คน ดังนั้นหากมีการฉีดวัคซีนให้สุนัขโดยครอบคลุมมากกว่า 85 เปอร์เซ็นขึ้นไปจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และช่วยลดการแพร่ของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ได้ และเมื่อสัตว์ปลอดโรค แน่นอนคนก็จะปลอดภัย” นพ.วงวัฒน์กล่าว
นพ.วงวัฒน์ กล่าวต่อว่า สุนัขใน กทม. มีอยู่ 2 แบบ คือมีเจ้าของดูแลกับเป็นสุนัขจรจัด แต่ในความเป็นจริงสุนัขที่เราเห็นวิ่งไปวิ่งมาตามสวนสาธารณะ ดูดีๆ มีคนเลี้ยงดูให้อาหารอยู่ เพราะคนรักสุนัขในประเทศไทยมีเยอะ ดังนั้นจึงพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยการชวนทุกคนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาพูดคุยกัน และให้ทุกคนรับรู้ว่าเรื่องโรคพิษสุนัขบ้ายังเป็นปัญหาและจะต้องช่วยกันแก้ไข
“ขั้นตอนที่สำคัญคือเราจัดทำทะเบียนให้กับสุนัข ซึ่งจะสามารถดูความครอบคลุมได้ว่ามีสุนัขจำนวนเท่าไร พันธ์อะไร ใครเป็นเจ้าของ และทุกปีสุนัขเหล่านี้จะต้องถูกนำมาฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างทั่วถึง และอีกกรณีหนึ่งคือ การทำหมันที่อาจจะช่วยควบคุมจำนวนสุนัข ซึ่งเป็นมาตรการที่คิดว่าน่าจะดีเช่นกัน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการให้บริการฉีดวัคซีนฟรีและมีหน่วยบริการที่เข้าถึงพื้นที่ชุมชนด้วย”
ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ กล่าวต่อไปอีกว่า ข้อดีของการมีส่วนร่วมในชุมชนคือ เมื่อทุกคนเข้าใจถึงสถานการณ์ปัญหาและชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทำให้การจัดการในการรวบรวมสุนัขทั้งหมดมารับบริการจะง่าย ซึ่งก็ต้องอาศัยการสื่อสารกับคนในชุมชนให้เข้าใจ เพราะเวลาที่มีโครงการบริการฉีดวัคซีน ทุกคนก็จะสามารถอุ้มสุนัขมารับบริการด้วยความเต็มใจ และกระบวนการเหล่านี้ก็จะช่วยให้สุนัขได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมรวดเร็วและง่ายขึ้น และหวังว่าเมื่อเกิดพื้นที่ต้นแบบขึ้นก็จะสามารถขยายไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้ต่อไป