กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--ส.อ.ท.
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย
วันนี้ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้ให้เกียรติ ร่วมแลกเปลี่ยนและรับฟังความเห็นกับ กกร. โดยได้ให้ความเห็นว่าหลักการร่างรัฐธรรมนูญ สมควรจะวางกรอบในลักษณะกว้างๆ ไม่ควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นรายละเอียด เพื่อให้กฎหมายแม่บทฉบับดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ใช้ครอบคลุมและรับรองกฎหมายลูกอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต โดยได้มีการนำเสนอสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญใน 4 กรอบคือ 1)สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ เพื่อขยายและยกระดับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 2) การเมืองใสสะอาดและสมดุล เพื่อปรับสมดุลอำนาจ,ตรวจสอบและถ่วงดุล 3) หนุนสังคมที่เป็นธรรม และ4) นำชาติสู่สันติสุข
โดย กกร. จะมีการจัดสัมมนาและหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งภายในเดือน พฤษภาคม 2558 เพื่อสะท้อนมุมมองของภาคธุรกิจ ให้กับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นธรรม และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยรวม
นอกจากนี้ กกร. ได้มีการประชุมสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนมีนาคม พบว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่ในภาวะเปราะบาง โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนแผ่วลง แม้มีปัจจัยบวกจากการเบิกจ่ายภาครัฐคืบหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุน และภาคการท่องเที่ยวยังคงรักษาโมเมนตัมเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่ภาคส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม
ทั้งนี้ กกร.ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ส่งออกอย่างใกล้ชิด จากความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าเป็นไปในเชิงลบมากขึ้น โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้ง นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติม ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงติดต่อกันสองครั้ง และล่าสุด มาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดแรงกดดันต่อทิศทางค่าของเงินบาทได้มากน้อยเพียงใด
ในประเด็นการเพิ่มความช่วยเหลือให้กับธุรกิจ SME ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ ทาง กกร. ได้มีการหารือร่วมกันถึงมาตรการระยะสั้น (1-2 ปี) ด้วยการขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาอยู่ที่ร้อยละ 30 จากประมาณร้อยละ 18 เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน
โดยเรื่องดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. ซึ่งทาง กกร. จะติดตามการดำเนินงานในเรื่องนี้ต่อไป
กกร. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลเรื่อง Ease of doing business ที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการ Competitiveness ของ กกร. เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของภาคเอกชน โดย กกร. จะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่อสนับสนุนผลักดันโครงการต่างๆที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเอกชนและประชาชน ในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป