กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--ปตท.
สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 83.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 3.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- National Oil Corp. (NOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียแถลง กลุ่มผู้ประท้วงปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบสู่ท่าส่งออก Zueitina (ปริมาณการสูบถ่าย 150,000 บาร์เรลต่อวัน) เพื่อเรียกร้องการจ้างงาน ทั้งนี้ ปัจจุบันยอดผลิตน้ำมันดิบของลิเบียอยู่ที่ 380,000 บาร์เรลต่อวัน
- EIA รายงาน ปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 พ.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 487 ล้านบาร์เรล นับเป็นการลดลงครั้งแรกในปี 2558 จากที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 17 โดยปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่ Cushing คงตัวโดยลดลงจากสัปดาห์ก่อนเพียง 12 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.7 ล้านบาร์เรล
- Shell ประกาศ Force Majeure (เหตุสุดวิสัย) สำหรับการส่งมอบน้ำมันดิบที่ท่าส่งออก Forcados (400,000 บาร์เรลต่อวัน) ของประเทศไนจีเรีย เนื่องจากพบรอยรั่วที่ท่อขนส่งน้ำมัน Trans Forcados Pipeline (200,000 บาร์เรลต่อวัน) โดยน้ำมันดิบ Forcados เป็นน้ำมันดิบชนิดเบาและมีค่าโลหะต่ำ
- Reuters รายงานความต้องการใช้น้ำมันในประเทศของซาอุฯ เพิ่มสูงขึ้น คาดว่าในเดือน มิ.ย. 58 จะพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 750,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มต้นปี 2558 ที่ 450,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบปี ทำให้การผลิตน้ำมันดิบของซาอุฯ ขณะนี้อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
- HSBC/Markit รายงาน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Services Purchasing Managers' Index-PMI) ของจีนในเดือน เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.6 จุด มาอยู่ที่ 52.9 จุด สูงสุดในรอบ 4 เดือน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจำต้องออกมาตรการเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากยังมีความวิตกต่อภาคการจ้างงาน โดยเฉพาะการปลดพนักงานเมื่อเดือนที่ผ่านมา
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- ผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ มีทีท่ากลับมาขุดเจาะอีกครั้ง หลังจากเว้นช่วงไประยะหนึ่ง เพื่อรอจังหวะที่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ราคานับว่าอยู่ในระดับสูงเพียงพอสำหรับการผลิต Shale Oil หลายแหล่งในสหรัฐฯ
- บริษัท Trafigura เผย เมื่อเดือน เม.ย. 58 ทางบริษัทได้ส่งออก Condensate จากสหรัฐฯ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาล เนื่องจากตรงตามเงื่อนไขที่กระทรวงพาณิชย์บัญญัติใหม่ กล่าวคือผ่านกระบวนการที่คล้ายการกลั่นน้ำมัน
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงาน ดุลการค้าในเดือน มี.ค. 58 ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 43.1% มาอยู่ที่ 5.14 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงสุดในรอบเกือบ 6 ปีครึ่ง สะท้อนความเป็นไปได้สูงที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาสแรกจะติดลบ
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims)สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 พ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3,000 ราย อยู่ที่ 265,000 ราย
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจากแรงกดดันของปริมาณสำรองน้ำมันโลกที่ทรงตัวในระดับสูงผนวกกับ Platts Report รายงาน OPEC ผลิตน้ำมันดิบ 30.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. 58 (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 210,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งมากกว่าปริมาณตามโควต้าการผลิต อีกทั้ง ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ อาทิ Concho Resource Inc, Devon Energy Corp. และ DOG Research Inc. ประกาศว่าตนจะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแข็งแกร่งขึ้นโดยได้แรงหนุนจากพายุเฮอริเคน Ana ในมหาสุมทร Atlantic ลูกแรกของปีนี้ที่ก่อตัวนอกชายฝั่งรัฐ North Carolina ก่อนฤดูกาลที่จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นไป ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในช่วงเทศกาลขับขี่ (Driving Season) ปีนี้สูงกว่าปีก่อน ประมาณ 300,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัว ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% มาสู่ระดับ 5.1% ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.5% มาอยู่ที่ระดับที่ 2.25 % ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. 58 ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ใน รอบ 6 เดือนผนวกกับการอัดฉีดสภาพคล่องมูลค่า 6.5 หมื่นล้านหยวนเข้าสู่ภาคธนาคารในเดือน เม.ย. 58 ผ่านโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสนับสนุนการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งนี้นักวิเคราะห์ทางการเงินคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของจีนมีแนวโน้มลดลงอีก เพื่อปรับสมดุลของระบบเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้นในครึ่งหลังของปี ให้ติดตามสถานการณ์การหยุดยิงระหว่างกลุ่ม Houthi กับซาอุดิอาระเบียระหว่างวันที่ 12-16 พ.ค. 58 ในเยเมนเพื่อเปิดทางให้นำความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเยเมน และติดตามความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างรัสเซียกับจีนที่ผู้นำจีนหารือกับประธานธิบดีปูตินของรัสเซียอาทิ ข้อตกลงซื้อขายน้ำมันดิบระยะยาว, โครงการท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติจากภาคตะวันออกของรัสเซียสู่จีน,การร่วมทุนสร้างโรงกลั่นแห่งใหม่ที่เมืองเทียนสิน และร่วมลงทุนสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 320 Megawatt กั้นแม่น้ำ Bureya ในรัสเซียเพื่อป้อนไฟฟ้าให้ประเทศจีน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่กรอบ 64-69 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล, NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 57- 62 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ ดูไบ จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62-67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจาก Hindustan Petroleum Corp. Ltd. (HPCL) ของอินเดียออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซินชนิด 91RON และ 92RON ปริมาณรวม 485,000 บาร์เรล ส่งมอบเดือน พ.ค. 58 เนื่องจากโรงกลั่นเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง โดยปกติบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ส่งออกน้ำมันเบนซิน มากกว่านำเข้า และ Cosmo Oil จากญี่ปุ่นปิดซ่อมบำรุง CDU (กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Chiba (กำลังการกลั่น 220,000บาร์เรลต่อวัน) เป็นระยะเวลา 1.5 - 2 เดือน ตั้งแต่ 2 พ.ค. 58 ประกอบกับ Sinopec จากจีนเผยแผนปิดซ่อมบำรุงCDU ( กำลังการกลั่น 50,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Maoming (กำลังการกลั่น 470,000 บาร์เรลต่อวัน) เป็นระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่ 22 พ.ค. 58 อย่างไรก็ตาม Platts รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันเบนซินจากตะวันตกสู่เอเชีย สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นแตะระดับ 714,000 บาร์เรล ส่งผลกดดันราคา และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6พ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 521,000 บาร์เรล อยู่ที่ 13.02 ล้านบาร์เรล ขณะที่ Euroilstock รายงาน ปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน ในยุโรป เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ 2.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7% ) เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันเร่งอัตราการผลิตในช่วงที่ค่าการกลั่น (Refining Margin) สูง โดย Reuters คำนวณว่าค่าการกลั่นในยุโรปตะวันตก เดือน มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.21เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 8.38เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 80-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจาก Petroleum Importation Coordinator ของแทนซาเนียนำเข้าน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ 50 ppm ปริมาณ 1.5 ล้านบาร์เรล ส่งมอบ 28-30 พ.ค. และ 16-18 มิ.ย. 58 ส่งมอบที่ท่าขนส่งน้ำมันในเมือง Dar es Salaam ประเทศแทนซาเนีย และ Caltex Australia ปิดโรงกลั่น Lytton (กำลังการกลั่น 109,000 บาร์เรลต่อวัน) เข้า Full-system shutdown เพื่อการซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลา 7 สัปดาห์สิ้นสุดปลายเดือน มิ.ย. 58 อย่างไรก็ตาม Platts คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันดีเซลของจีนช่วงฤดูจับปลาใน ทะเลจีนใต้ช่วงกลางเดือน มิ.ย. – ส.ค. 58 จะลดลงจากปีก่อน และ Reuters รายงาน Formosa Petrochemical Corp. (FPC) ของไต้หวันและ Petronas ของมาเลเซียส่งออก Middle Distillates ออกสู่ตลาดจรเพิ่มขึ้น กดดันตลาดเอเชียและEuroilstock รายงานปริมาณการผลิต Middle Distillates ในยุโรป เดือนมี.ค. 58 อยู่ที่ 5.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.8%) ขณะที่ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 พ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 210,000 บาร์เรล อยู่ที่ 10.89 ล้านบาร์เรลสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล