กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นางวีณา พงศ์พัฒนานนท์ อธิบดีกรมหม่อนไหม และผู้บริหารกรมหม่อนไหม นำเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมชุมชนบ้างหัวสะพาน ต.บ้านยาง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เข้ามอบผ้ามัดหมี่ซิ่นตีนแดงให้กับ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอบคุณที่ท่านได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ ภูมิปัญญาหม่อนไหม ด้วยการสวมใส่ผ้าไหมไทยและส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิปัญญาหม่อนไหม เพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมไทยสืบไป ซึ่งปัจจุบัน การสวมใส่ผ้าไหมได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น จากการรณรงค์และสนับสนุนของรัฐบาล ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ดีขึ้น และให้เกษตรกรหันมาประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมากยิ่งขึ้น
สำหรับหัวหน้ากลุ่มเกษตรกรดังกล่าว คือ นางรุจาภา เนียนไธสง ซึ่งเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ประจำปี 2558 เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้าไหม โดยเฉพาะการทอผ้าซิ่นตีนแดง ซึ่งเป็นผ้าประจำท้องถิ่น อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ นางรุจาภา ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ เป็นที่ยอมรับของชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้รับรางวัลและประกาศนียบัตรรับรองผลงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับประเทศในการสร้างผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่ได้คุณภาพและเป็นที่ยอมรับมากมาย เป็นแบบอย่างของชุมชนในการประกอบอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สามารถผลักดันให้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมในหมู่บ้านได้สูงถึงร้อยละ 90 นอกจากนี้ชุมชนบ้างหัวสะพาน ต.บ้านยาง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ยังเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวไหมที่มีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าเยี่ยมชม และซื้อสินค้าหม่อนไหมเป็นจำนวนมาก
ผ้าไหมที่มอบให้นายกรัฐมนตรีในครั้งนี้นั้น เป็นผ้ามัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ หรือ เรียกว่า ซิ่นหมี่ลวด เป็นผ้าเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชาวบุรีรัมย์ ผลิตมากในแถบ อ.พุทไธสง บ้านใหม่ไชยพจน์ และ อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ ไม่มีในท้องถิ่นอื่น เป็นผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือทอด้วยไหมทั้งผืนเฉพาะหัวซิ่น และตีนซิ่นจะเป็นสีแดง ตอนกลางของผ้าจะเป็นสีดำลายมัดหมี่ คือ ลายไม้แทงตาหนู(ไม้ขัดตาหนู) สีประกอบ ได้แก่ สีขาว เหลือง เขียว แดง ลักษณะการทอ จะทอเป็นผืนเดียวกัน ไม่ใช้การตัดต่อระหว่าง หัวซิ่นและตีนซิ่น สมัยโบราณจะทอให้เด็กและวัยรุ่นนุ่งเพราะเป็นผ้าที่มีลายและสีสดใส ต่อมาได้ปรับปรุงพัฒนาการทอให้เป็นผ้าผืนใหญ่ กว้างและยาวขึ้น จึงใช้ฟืมที่มีขนาดหน้ากว้างเพิ่มขึ้นและใช้ไหมน้อยเป็นวัตถุดิบในการทอ การทำผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์มีความยุ่งยากกว่ามัดหมี่ชนิดอื่น โดยเฉพาะช่วงที่เป็นหัวซิ่นและตีนซิ่น จึงไม่ค่อยนิยมทำกันและเกือบจะสูญหายไป แต่ได้มีการณรงค์ให้ประชาชนหันมาผลิตและใช้แต่งกายในงานประเพณีสำคัญ เช่น บุญบั้งไฟ งานสงกรานต์ ลอยกระทงและกิจกรรมต่างๆ ทำให้กลับมาได้รับความนิยมในท้องถิ่นอีกครั้ง และในปี พ.ศ. 2546 ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นผ้าวัฒนธรรมประจำจังหวัดบุรีรัมย์
อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กรมหม่อนไหมดำเนินการพัฒนาและสร้างชื่อเสียงของผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านระบบการรับรองเครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI โดยผ้าไหมไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว มี3 ประเภท ได้แก่ ผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ และผ้าไหมมัดหมี่ชนบท จ.ขอนแก่น นอกจากนี้ยังมี ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นผ้าไหมไทยที่มีชื่อเสียง ทั้งด้านความสวยงาม และความมีเอกลักษณ์ ซึ่งกรมหม่อนไหมเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ คุ้มครองปกป้องภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงได้ดำเนินการยื่นเสนอต่อ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขอขึ้นทะเบียนผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดง จ.บุรีรัมย์ เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
สำหรับความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ ขณะนี้กรมหม่อนไหมได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการเพื่อประกาศขึ้นทะเบียน ซึ่งผลที่จะได้รับหลังจากขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ นอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าไหมไทย สร้างชื่อเสียงและการยอมรับผ้าไหมไทยในเวทีโลกแล้ว ยังเป็นการคุ้มครองวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไปได้อีกด้วย