กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
เนปาลวิปโยคจากภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวถล่มกรุงกาฏมาณฑุและเมืองใกล้เคียง ได้สร้างความตระหนกและสะพรึงกลัวต่อความเสียหายรุนแรงในชีวิต โบราณสถานและที่อยู่อาศัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ด้วยการสนับสนุนจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และการบินไทย ในชื่อโครงการ Thailand Hugs for Nepal ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมลงพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวเนปาล เผยความเสียหายแผ่นดินไหวเนปาล มูลค่าความเสียหายสูงถึง 20% ของจีดีพีเนปาล ผลกระทบในวงกว้าง วสท.พร้อมร่วมมือกับสมาคมวิชาชีพในเนปาล สมาคมเทคโนโลยีแผ่นดินไหวแห่งชาติ (NSET) และสถาบันการศึกษาชั้นนำของเนปาลมุ่งกู้ภัยและบรรเทาความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat) นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า “โครงการ Thailand Hugs for Nepal ระหว่างวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.), สจล.และการบินไทย ขอขอบคุณผู้เชี่ยวชาญและทีมงานนักศึกษาที่เดินทางลงสำรวจพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการวิศวกรรมที่นครกาฏมาณฑุ เมื่อวันที่ 29 เมษายนถึง 1 พฤษภาคม 2558 เป็นความเอื้ออาทรระหว่างประชาชนชาวไทยและชาวเนปาล ซึ่งเป็นมิตรประเทศและเป็นแดนกำเนิดของพระพุทธเจ้า ทีมงานชุดแรกนี้ประกอบด้วย ศ.กิตติคุณ ดร.เอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ อุปนายก วสท., รศ.ดร.คมสัน มาลีสี, ผศ.ดร.สุพจน์ ศรีนิล, ผศ.ดร.นันทวัฒน์ จรัสโรจน์ธนเดช, นายภาณุมาศ ไทรงาม นักศึกษาป.โท และ นายอัมฤต ชริทธา นักศึกษาป.โท ชาวเนปาล ได้เป็นตัวแทนประชาชนคนไทยที่ได้แสดงความห่วงใยและความเอื้ออาทรของเราที่มีต่อชาวเนปาล ซึ่งเป็นมิตรประเทศและเป็นแดนกำเนิดขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพุทธศาสนาที่ดำรงมากว่า 2,600 ปี ทีมผู้เชี่ยวชาญได้ประสานงานกับสถานฑูตไทยในเนปาล กระทรวงการต่างประเทศ, สมาคมเทคโนโลยีแผ่นดินไหวแห่งชาติ หรือ National Society for Earthquake Technology (NSET) และชุมชนในเนปาล ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวในเนปาลที่เกิดขึ้นเมื่อ 25 เม.ย.2558 ขนาดรุนแรง 7.9 แมกนิจูด ยอดผู้เสียชีวิตในเนปาลอย่างเป็นทางการ กว่า 7,557 คน บาดเจ็บ 14,576 คน จำนวนบ้านเรือนพังทลาย 200,552 หลัง จำนวนบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายอีก 186,285 หลัง นักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค คาดความเสียหาย 5,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 160,000 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของจีดีพีเนปาล ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวเนปาลกว่า 8 ล้านราย หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ การกู้ภัยในพื้นที่ห่างไกลเป็นความจำเป็นเร่งด่วนและความต้องการในอนาคตอันใกล้เป็นขั้นตอนการตรวจสอบอาคาร ประเมินผล เยียวยาและฟื้นฟูต่อไป
แม้จะมีการวิจัยหลายทศวรรษแต่เราไม่อาจคาดเดาแผ่นดินไหวได้ ในด้านเทคโนโลยีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวซึ่งมีราคาสูงมากมีใช้ในชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ญี่ปุ่นและเม็กซิโก ประกอบด้วยสถานีวัดความสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวซึ่งสามารถจับคลื่นพี ที่เดินทางผ่านเปลือกโลกได้เร็วกว่าคลื่นเอส อันเป็นคลื่นที่ทำให้แผ่นดินเกิดการสั่นไหว สามารถเตือนภัยได้ไม่กี่นาทีก่อนเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจะมีเวลาเพียง 15-20 วินาที ในการหาที่หลบหรือวิ่งออกจากอาคาร ส่วนระบบเตือนภัยในญี่ปุ่นนับแต่ปี 2550 จะเชื่อมโยงเป็นคำเตือนไปยังคอมพิวเตอร์ หน่วยงานท้องถิ่นและอื่นๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ รวมถึงโรงงานต่างๆจะปิดทำการอัตโนมัติ
ดังนั้นการเตรียมความพร้อมและเผยแพร่องค์ความรู้สำหรับคนไทยและเนปาล พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนและเอเซีย ทั้งด้านวิศวกรรม ข้อมูล นวัตกรรม การกู้ภัยแผ่นดินไหว จำเป็นต้องดำเนินการอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างระบบการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ”
ศ.กิตติคุณ ดร.เอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ (Prof.Dr.Ekasit Limsuwan) อุปนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเดินทาง กล่าวว่า หลังจากการหารือกับท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำเนปาล ภารกิจการดำเนินงานกู้ภัยแผ่นดินไหวของ วสท.มี 3 ส่วน คือ 1) ดูแลความปลอดภัยสำหรับคนไทยในกรุงกาฎมาณฑุ โดยการสำรวจตรวจสอบอาคารของสถานฑูตไทย ทำเนียบเอกอัครราชฑูต และสถานที่อยู่อาศัยของเจ้าหน้าที่และครอบครัว และคนไทยที่แจ้งขอรับความช่วยเหลือจาก ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติในเนปาล ซึ่งมีการประชุมทางไกลผ่านวีดีโอ (video conference) กับศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าเป็นประจำวันทุกวันเพื่อติดตามและประเมินการดำเนินการของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง 2) การช่วยเหลือภาครัฐของเนปาล ด้วยการให้คำแนะนำ ข้อหารือ และการให้คำปรึกษาในการกู้ภัย รื้อถอนซากปรักหักพังของอาคาร และการก่อสร้าง โดยประสานงานกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมเทคโนโลยีแผ่นดินไหวแห่งชาติ (National Society for Earthquake Technology - NSET) , สภาวิศวกรแห่งเนปาล และสมาคมวิชาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับการช่วยเหลือและการฟื้นฟูในขั้นต่อไป 3)ความร่วมมือระหว่างไทยและเนปาล เชื่อมโยงองค์ความรู้ ประสบการณ์และบูรณาการเพื่อการเรียนรู้เชิงวิชาการ เพื่อพัฒนาวิชาชีพในเชิงเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยจากภัยพิบัติ นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่วงการศึกษา วิศวกรรม การก่อสร้าง และการเรียนรู้แผ่นดินไหวสำหรับชุมชน
แนวทางความร่วมมือไทย-เนปาล ในก้าวต่อไป ระหว่าง วสท.กับเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนและจิตอาสาในชุมชนเนปาล มีดังนี้ 1.ความร่วมมือด้านวิศวกรรมในการฟื้นฟู แลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ในการตรวจสอบความแข็งแรงมั่นคงอาคาร การรื้อถอนอาคารและซ่อมแซมในพื้นที่ภัยพิบัติ 2.ประสานความร่วมมือด้านฝึกอบรมบุคคลากรเกี่ยวกับเทคโนโลยีก่อสร้างต้านแรงแผ่นดินไหว 3.นำประสบการณ์แผ่นดินไหวในเนปาลมาใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาคนรุ่นใหม่ การศึกษาวิจัยนวัตกรรมและการเฝ้าระวัง การเตรียมความพร้อมและการวางแผนกู้ภัยแผ่นดินไหว 4.การศึกษาดูงานในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ 5.เสริมสร้างเครือข่ายจิตอาสาระหว่างชาวไทยและชุมชนในเนปาล โดยได้ตั้งกลุ่มอาสาสมัครชาวเนปาลขึ้นแล้วในการช่วยเหลือและจัดส่งสิ่งจำเป็นจากประเทศไทยแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ชนบทห่างไกล ซึ่งขณะนี้มีความต้องการเต๊นท์ น้ำ ยาและอาหารแห้ง
รศ.สุพจน์ ศรีนิล (Assoc.Prof.Supoj Srinil) อดีตหัวหน้าสาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “โครงการ Thailand Hugs for Nepal ส่งทีมงานวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ในนครกาฏมาณฑุ ในการช่วยเหลือด้านโครงสร้างอาคาร เราได้เข้าสำรวจตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของสถานฑูตและทำเนียบฑูตมีความเสียหายจากแผ่นดินไหวน้อยมาก มีรอยร้าวเล็กๆที่ผนังก่ออิฐบริเวณเชื่อมต่อระหว่างผนังกับโครงสร้าง และบริเวณโคนเสาที่ต่อกับพื้นถนน แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อกำลังความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร หรือต่อการบริการใช้สอยอาคาร ทีมผู้เชี่ยวชาญได้เข้าตรวจสอบอาคาร Central Park สูง 14 ชั้น มี 3 อาคาร มีผู้พักอาศัยจำนวนมากรวมทั้งคนไทย 5 ครอบครัว พบรอยแตกร้าวเสียหายมากมายทั้งที่ผนังอาคาร บานประตูหน้าต่าง รวมถึงระบบโครงสร้างที่ประเมินเบื้องต้นได้ว่าเกิดการโยกตัว 15-30 ซ.ม.ซึ่งเกินค่าพิกัดความปลอดภัยมาก จึงให้ข้อแนะนำให้ย้ายออกจากอาคารดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากภัยพิบัติที่อาจเกิดจากการสั่นไหวตามมา(After-shock)ได้ ส่วนอาคารสูง 4 ชั้น ซึ่งมีวิศวกรการบินไทยและครอบครัวคนไทยอาศัยอยู่ด้วยนั้น อาคารมั่นคงแข็งแรงดี ไม่มีจุดเสียหาย และยังคงใช้งานได้ปกติ”
ผศ.ดร.นันทวัฒน์ จรัสโรจน์ธนเดช (Asst.Prof.Dr.Nunthawath Charusrojthanadech) หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “จากการลงพื้นที่ในเนปาลครั้งนี้เราได้ออกไปในพื้นที่ชนบทด้วย ซึ่งมีความเสียหายมากมายทั้งที่เป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อาคารสถานที่ราชการ โรงเรียน โรงแรม รวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง บ้านพักอาศัย เพิงที่พัก และบ้านเรือนที่ก่อสร้างกันเองในชนบท เช่น บางหมู่บ้านห่างจากกาฏมาณฑุราว 30 นาที มี 200 หลังคาเรือนพังทลายหมด จากการสำรวจพบว่าความเสียหายเกิดจากลักษณะการก่อสร้างที่เป็นอิฐผนังหินก่อ ที่มีน้ำหนักมากจะเสียหายมากที่สุด สำหรับโครงสร้างที่เป็นหอคอยทรงสูง อาคารยกสูง มีเก๋งหลังคาปลายยื่นมากๆด้วยเท้าแขนจะมีความเสียหายทุกที่ ส่วนอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่ออกแบบให้รับแรงแผ่นดินไหวและควบคุมการก่อสร้างด้วยคุณภาพนั้น ส่วนใหญ่จะมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอ เสียหายบ้างจากผนัง ประตูหน้าต่าง หรือวัสดุตกแต่งเป็นส่วนใหญ่ และอีกลักษณะหนึ่งที่ออกแบบไว้แต่จะได้มาตรฐานหรือไม่ ยังอาจเป็นปัญหาในแง่ของการควบคุมคุณภาพที่ปรากฏให้เห็น นอกจากนี้จากการสำรวจความเสียหายที่ทำได้ในวงกว้าง อาจแยกแยะความรุนแรงจากภัยพิบัติโดยพิจารณาจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว และลักษณะทางธรณีวิทยาของชั้นดินไปจนถึงตัวอาคารนั้นๆ เราจะนำประสบการณ์แผ่นดินไหวในเนปาลมาใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาคนรุ่นใหม่ เพื่อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของคนไทย การศึกษาวิจัยนวัตกรรมและการเฝ้าระวัง การเตรียมความพร้อมและการวางแผนกู้ภัยแผ่นดินไหวที่ถูกต้องเหมาะสมในอนาคต”
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ (Assoc.Prof.Siriwat ChaiChana) เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า “แม้ว่ารอยเลื่อนในเนปาลจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือยังคงมีอยู่ เนื่องจาก แนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกในย่านนี้ที่ค่อนข้างจะแอคทีฟ คือมีการสะสมพลังงานและปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง จากสถิติแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดในย่านนีตามลำดับปี คือ
1.เกาะสุมาตราเหนือ อินโดนีเซีย ค.ศ.2004 (9.2 แมกนิจูด)
2.เกาะนีอาส อินโดนีเซีย ค.ศ.2005 และ 2007 (8.7 และ 8.5 แมกนิจูด)
3.เมืองเหวินฉวน จีน ค.ศ.2008 (7.9 แมกนิจูด)
4.หมู่เกาะอันดามัน อินเดีย ค.ศ.2009 (7.5 แมกนิจูด)
5.มัณฑะเลย์ เมียนมาร์ ค.ศ.2011 (6.8 แมกนิจูด)
6.เมืองชเวโบ เมียนมาร์ ค.ศ.2012 (6.8 แมกนิจูด)
7.มหาสมุทรอินเดีย อินโดนีเซีย ค.ศ.2012 (8.2 และ 8.6 แมกนิจูด)
8.มณฑลเสฉวน จีน ค.ศ.2013 ( 6.6 แมกนิจูด)
9.แม่ลาว จ.เชียงราย ประเทศไทย ค.ศ.2014 (6.1 แมกนิจูด)
10.เนปาล ค.ศ.2015 (7.9 แมกนิจูด)
สำหรับในประเทศไทยโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวนั้น นักวิชาการคาดว่าจะมีความรุนแรงอยู่ในระดับเพียง 6 แมกนิจูดกว่าๆ และใหญ่ที่สุดไม่เกิน 7 แมกนิจูด โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แบบเนปาลในประเทศไทยค่อนข้างน้อย เนื่องจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในแนวราบและน้อยกว่าเนปาลมาก ต่อปีอาจมีเพียงประมาณ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการเตรียมพร้อมรับมืออย่างถูกต้อง และควรบังคับใช้กฏหมายให้ทุกอาคารสูงจะต้องรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในระดับ 7 ได้ เนื่องจากอาคารที่มีความสูงจะมีผลกระทบสร้างความเสียหายรุนแรงอย่างมากโดยเฉพาะกับผู้คนที่อยู่ภายใน วสท.จะนำประสบการณ์แผ่นดินไหวในเนปาลมาต่อยอดใช้ประโยชน์ในการบรรเทาช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจ.เชียงราย การเตรียมพร้อมเพื่อลดผลกระทบและความสูญเสีย ตลอดจนนำประสบการณ์แผ่นดินไหวเนปาลไปเผยแพร่จัดแสดงในศูนย์เรียนรู้แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ซึ่ง วสท.และกรมทรัพยากรธรณีกำลังร่วมกันพัฒนาการเรียนรู้ให้เป็นแนว Active Learning”