กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--Mind PR
สรอ.ร่วมกับ ซีเอสเอ ประเทศไทยและมหาวิทยาลัยมหิดลจัดงาน“อาเซียน ซีเอสเอ ซัมมิท 2015” การประชุมสุดยอดอาเซียนด้านระบบรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์พร้อมดันไทยสู่ยุคดิจิทัล อีโคโนมีอย่างมั่นคงและปลอดภัย
สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) สมาคมความมั่นคงปลอดภัยในระบบคลาวด์ ประเทศไทย หรือซีเอสเอ ประเทศไทย (CSA Thailand Chapter) และ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศจัดงานการประชุมระดับอาเซียนด้านระบบรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ “อาเซียน ซีเอสเอ ซัมมิท 2015” (ASEAN CSA Summit 2015) ระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2558 หนุนไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ
ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ. และ ประธานกลุ่มสมาคมความมั่นคงปลอดภัยคลาวด์ ประเทศไทย หรือซีเอสเอ ประเทศไทย (CSA Thailand Chapter) กล่าวว่า นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดิจิทัล อีโคโนมี(Digital Economy) เป็นนโยบายที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การขับเคลื่อนเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาธุรกิจการสื่อสารของประเทศไทยในอนาคต ที่จำเป็นต้องมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยมีเป้าหมาย การวางโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีขนาดที่พอเพียงกับการใช้งาน ในราคาที่เหมาะสม เพื่อเป็นพื้นฐานไปสู่การต่อยอดกิจกรรมการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังเป็นการสร้างความ เท่าเทียมและทั่วถึงสำหรับประชาชนทุกคนสู่การเข้าถึงโอกาสการเข้าถึงบริการของภาครัฐ และลดความเหลื่อมล้ำ ทางด้านการค้าขยายโอกาสธุรกิจ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรและสมาคมต่างๆ ที่ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อน ดิจิทัล อีโคโนมี ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ การพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษา การจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะ และร่วมกันรณรงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ให้ยืนหยัดบนเวทีโลกได้อย่างสง่างาม
นางสาวนันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายนวตกรรม (นว.) สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และ คณะกรรมการ กลุ่มสมาคมความมั่นคงปลอดภัยคลาวด์ ประเทศไทย (ซีเอสเอ ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการที่กระทรวงไอซีทีร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสพธอ. และหน่วยงานร่วมทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรระบบรักษาความปลอดภัยคลาวด์ ประเทศไทย (Cloud Security Alliance Thailand Chapter) หรือ สมาคม ความมั่นคงปลอดภัยคลาวด์ประเทศไทย หรือเรียกว่า ซีเอสเอ ประเทศไทยขึ้นในปี 2556 ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยในระบบคลาวด์ของโลก(Global CSA) โดยกำหนดพันธกิจให้เป็นหน่วยงานหลักในการตั้ง ซีเอสเอ อาเซียน ฮับ (CSA ASEAN Hub) ในประเทศไทย เพื่อนำองค์ความรู้ระดับสากลในด้านระบบรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ พร้อมทั้งการฝึกอบรมสร้างบุคลากร นอกจากนั้นยังดูแลเรื่องการจัดทำร่างกฎระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยบนคลาวด์ (Regulation Draft) ซึ่งทำให้ไทยสามารถเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดเรื่องราวต่างๆ ในระดับโลกและเป็นประโยชน์ต่อไทยในระยะยาว
ทั้งนี้กระทรวงไอซีทีได้มอบหมายให้สรอ.เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนปัจจัยต่างๆ เพื่อให้องค์กร ซีเอสเอ ประเทศไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น และจัดกิจกรรมต่างๆ โดยที่ผ่านมาได้จัดงานประชุมสัมมนาเชิงวิชาการในระดับอาเซียนสำหรับผู้บริหารและบุคลากรทางด้านระบบรักษาความปลอดภัยไอที หรือ อาเซียน ซีเอสเอ ซัมมิท (ASEAN CSA Summit) ไปแล้ว 2 ครั้ง และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมงานทั้งในและต่างประเทศจำนวนกว่า 600 คน
ดังนั้นในปีนี้ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) สมาคมความมั่นคงปลอดภัยในระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง ประเทศไทย หรือซีเอสเอ ประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดงานการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการระดับอาเซียนด้านระบบรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์เป็นครั้งที่ 3 “อาเซียน ซีเอสเอ ซัมมิท 2015” (ASEAN CSA Summit 2015) ในประเทศไทย ภายใต้แนวทางการเตรียมความพร้อมสู่ดิจิทัล อีโคโนมี (PROVISIONING TOWARDS DIGITAL ECONOMY) ระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2558 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว
“จากนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับภูมิภาค และการก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดิจิทัล อีโคโนมี ดังนั้นยุทธศาสตร์ของระบบรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ จึงพร้อมมุ่งเน้นในเรื่องของดิจิทัล อีโคโนมี เพื่อยกระดับระบบรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ให้เป็นนโยบายระดับชาติ ในขณะเดียวกันความท้าทายที่สำคัญของระบบการรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ คือการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ดิจิทัล อีโคโนมี โดยให้ทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับระบบรักษาความความปลอดภัยด้านไอทีให้มากขึ้น ทั้งนี้ภัยร้ายหรือภัยคุกคามที่มาจากการใช้ระบบไอทีได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นภัยร้ายใหม่ๆ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้” นางสาวนันทวัน กล่าว
สำหรับเนื้อหาของ อาเซียน ซีเอสเอ ซัมมิท 2015 (ASEAN CSA Summit 2015) เป็นการเพิ่มเติมความรู้ทางด้านระบบความปลอดภัยบนคลาวด์ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังนำเสนอโซลูชั่นด้านระบบรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ที่มีการใช้งานจริงและวิธีการแก้ไขปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารทั้งในและต่างประเทศ
โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจในวันงาน อาทิ การอภิปราย เรื่อง ดิจิทัล อินโนเวชั่น (Digital Innovation) และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในหัวข้อ “พอกันที!ระบบรักษาความปลอดภัยแบบเดิมๆ” (Fire Talk “Traditional Security; No MORE!”)
การประชุมทั้งสองวันคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุม 800 คนต่อวัน จากในประเทศไทยจำนวน 600 คน และต่างประเทศอีก 200 คน โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยระบบคลาวด์จากยุโรปและอาเซียนภายใต้โครงการ Connect2SEA รวมทั้งผู้ค้าไอทีและผู้ให้บริการคลาวด์ร่วมงาน
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.เจริญศรี มิตรภานนท์ คณะบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรสู่ยุคคลาวด์คอมพิวติ้งว่า บทความวิเคราะห์ด้านไอทีที่แสดงถึงข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการขยายตัวของการให้บริการและการใช้งานคลาวด์ และข้อมูลความต้องการบุคลากร ไอทีที่มีทักษะความรู้ด้านคลาวด์คอมพิวติ้งทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ชี้ให้เห็นชัดถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรสู่ยุคคลาวด์คอมพิวติ้งในระดับประเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล โดยความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาล มหาวิทยาลัย และอุตสาหกรรม (Government-University-Industry) ร่วมกับพันธมิตร 7 องค์กรหลัก ได้แก่ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือ ซิป้า บริษัท ไมโครซอฟท์ บริษัท วีเอ็มแวร์ บริษัท เดลล์ และบริษัท เอชพี ได้ศึกษาวางกรอบองค์ความรู้ทางด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing Body of Knowledge) เพื่อเร่งสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านคลาวด์ คอมพิ้วติ้งให้กับประเทศไทย โดยมีองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยบนคลาวด์หรือ คลาวด์ ซีเคียวริตี้ เป็นองค์ความรู้หลักที่สำคัญอันหนึ่งในกรอบองค์ความรู้ ที่คณะฯ ได้วางไว้ บุคลากรยุคคลาวด์คอมพิวติ้งจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคลาวด์ ซีเคียวริตี้ ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาการให้บริการและการใช้งานคลาวด์อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดงานการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการระดับอาเซียนด้านระบบรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์นี้ จึงมีส่วนอย่างยิ่งที่จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลาวด์ ซีเคียวริตี้ในวงกว้าง