กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เป้าหมายของนักวิจัยหลายคนมีจุดประสงค์ที่คล้ายกันคือการพัฒนางานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมได้ ซึ่งในแต่ละประเทศก็มักจะมีรูปแบบของการยกย่องและเชิดชูบุคคลเหล่านี้แตกต่างกันออกไป ประเทศไทยก็เช่นกัน โดยล่าสุดนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีอาจารย์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์เพิ่มขึ้นอีก 2 ท่าน ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการเป็นผู้วิจัยและพัฒนาผลงานวิจัยที่ส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้างมาโดยตลอด
โดยท่านแรกคือ ศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย เทอดเทียนวงษ์ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี ซึ่งได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cells) โดยนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการไปฝึกงานหลังจบปริญญาเอกกับบริษัท Energy Research Co. ในประเทศสหรัฐอเมริกามาพัฒนาต่อในประเทศไทยเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา
“กว่าสิบห้าปีแล้วที่ผมเริ่มต้นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงขึ้นในประเทศไทยซึ่งเป็นเทคโนโลยีค่อนข้างใหม่และเป็นประโยชน์ต่อโลกในอนาคตเพราะเซลล์เชื้อเพลิงสามารถเปลี่ยนพลังงานเคมีที่อยู่ในเชื้อเพลิงให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ในขั้นตอนเดียว ทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงและเป็นเทคโนโลยีสะอาด ต่างจากทุกวันนี้ที่เรายังคงใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่ต้องผ่านหลายขั้นตอน ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีการสูญเสียพลังงาน ทำให้ประสิทธิภาพของระบบมีค่าต่ำ และในปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาการต่อต้านจากประชาชนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกิดจากความหวั่นวิตกในเรื่องมลพิษ ซึ่งผมคิดว่าเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงนี้น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ในอนาคต จึงเป็นสาเหตุหลักที่ผมเลือกศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงมาโดยตลอด” ศ.ดร.อภิชัย กล่าว
นอกจากนี้ ศ.ดร.อภิชัย ยังได้กล่าวอีกว่า แต่เดิมเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงนั้นใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีราคาสูงและต้องการถังเก็บแก๊สความดันสูง ทำให้ไม่สามารถพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงให้มีขนาดเล็กเพื่อให้พกพาได้สะดวก อีกทั้งเพื่อทำให้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงสามารถตอบโจทย์ความเป็นประเทศเกษตรกรรมของไทยได้ ทางศูนย์วิจัยและวิศวกรรมเซลล์เชื้อเพลิงจึงเริ่มการพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงแบบเอทานอล ซึ่งผลงานที่กำลังพัฒนาในขึ้นตอนนี้คือ เครื่องต้นแบบเพื่อใช้แทนแบตเตอรี่มือถือ ข้อดีของเซลล์เชื้อเพลิงเอทานอลคือสามารถใช้งานได้ตลอดเวลาตราบใดที่ในเซลล์เชื้อเพลิงยังมีเอทานอลอยู่ และหากเชื้อเพลิงเอทานอลหมด ผู้ใช้งานก็เพียงแค่เปลี่ยนแคปซูลที่บรรจุเอทานอลเข้าไปใหม่ เซลล์เชื้อเพลิงจะสามารถใช้งานได้ทันที ไม่ต้องรอชาร์จไฟแบบแบตเตอรี่
“ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่พัฒนาเรื่องเซลล์เชื้อเพลิงแบบไฮโดรเจน แต่ที่ มจธ.น่าจะเป็นแห่งแรกที่เริ่มพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงแบบแอลกอฮอล์ ตอนนี้เครื่องต้นแบบยังมีขนาดใหญ่ไม่เหมาะที่จะใช้งานในรูปแบบพกพาซึ่งคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาให้มีขนาดกะทัดรัด ผมวางแผนไว้ว่าอีกประมาณ 3 ปีจะถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ต่อให้ภาคเอกชนเพื่อผลิตออกสู่ตลาด ซึ่งคาดว่าถ้าผลงานนี้สำเร็จนอกจากจะช่วยเรื่องความสะดวกสบายในการใช้งานแล้วน่าจะช่วยลดมลพิษที่เกิดจากขยะอันตรายอย่างแบตเตอรี่เก่าได้อีกมาก”
นอกจากนั้นยังมี ศาสตราจารย์อดิศักดิ์ พงษ์พูลผลศักดิ์ อีกท่านหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางด้านสถิติประยุกต์ ซึ่งขณะนี้ท่านได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาอาจารย์แห่งประเทศไทย (ปอมท.) อยู่ด้วย และจากความใฝ่ฝันที่จะเข้าศึกษาใน มจธ. ตั้งแต่สมัยเรียนจนกระทั่งปัจจุบันสามารถเข้ามาอยู่ในรั้ว มจธ. ในฐานะอาจารย์ตั้งแต่ปี 2525 และคอยประสิทธิ์ประสาทวิชาด้าน Quality Control (QC) ให้แก่นักศึกษา มจธ. จนประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานมาแล้วหลายรุ่น และด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ไม่ใช่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใดๆ แต่เป็นการวิจัยข้อมูลเชิงสถิติประยุกต์ที่ตีพิมพ์ออกมาเพื่อนำไปใช้กับภาคอุตสาหกรรม เกี่ยวกับการวางแผน การควบคุมคุณภาพการผลิต เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมและได้ผลเป็นรูปธรรม
“ในฐานะที่เป็นอาจารย์ผมชอบสอนวิชาพื้นฐานให้แก่นักศึกษา เพราะผมคิดว่าคนจะเก่งได้ต้องเริ่มจากพื้นฐานที่แน่นก่อนเสมอ และเวลาที่ว่างเว้นจากการสอนมีสิ่งหนึ่งที่ทำควบคู่กันมาตลอดนั่นคือการเป็นนักวิจัย ซึ่งผมมุ่งเน้นเพื่อทำงานวิจัยที่มีผลต่อโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ แต่งานวิจัยด้านสถิติและคณิตศาสตร์นั้นเป็นงานแห้งๆ เราจึงต้องจำลองระบบให้เหมือนกับในโรงงงานอุตสาหกรรมเพื่อทดลองหาค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสมโดยต้องมีความอุตสาหะทำเป็นพันเป็นหมื่นครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ผลที่ชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุด” ศ.อดิศักดิ์ กล่าว
นอกจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมและการเขียนตำราวิชา Quality Control จำนวนหลายเล่มแล้ว ศ.อดิศักดิ์ ยังได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติด้วย อาทิ เช่น การวิจัยรูปแบบการประกันภัยสำหรับชาวนา ผู้ใช้แรงแรงงาน อาชีพรับจ้าง และอื่นๆ ให้มีระบบประกันสังคมโดยรัฐบาลช่วยรองรับ ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีกับการเป็นอาจารย์ของ ศ.อดิศักดิ์ ยังได้สร้างนักวิจัยหน้าใหม่ขึ้นมาอีกหลายคนด้วยกัน