สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลก แนะวิธีฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ เก็บออมและลงทุนด้วยทองคำให้มากขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday June 8, 1998 09:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--8 มิ.ย.--สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลก
สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลก เสนอแนะหนทางฟื้นฟูสถานภาพทางเศรษฐกิจระดับบุคคลและระดับประเทศอย่างมีระบบ คุ้มค่า มั่นคง และปลอดภัยที่สุดในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและในระยะยาว ด้วยการลงทุนเก็บออมและส่งออกเครื่องประดับทองคำ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงกับกระแสค่าเงินบาทที่ผันผวน มั่นใจความต้องการและเสถียรภาพของทองคำในตลาดโลกจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการค้าและส่งออกเครื่องประดับทองคำของไทย ล่าสุดร่วมส่งเสริมผู้ผลิตและส่งออกเครื่องประดับทองคำชั้นนำของไทย นำสุดยอดงานฝีมือร่วมแสดงในงานมหกรรมแสดงอัญมณีและเครื่องประดับทองคำระดับนานาชาติ “โกลด์ เอเชีย' 97” ที่ประเทศมาเลเซีย เดือนพฤศจิกายน ศกนี้
นายพงศ์พันธ์ พงษ์ศิริบัญญัติ ผู้จัดการประจำประเทศไทย สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลก แนะนำวิธีการลงทุนอย่างชาญฉลาดในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันว่า “ขณะนี้ทองคำนับเป็นทรัพย์สินมีค่าที่น่าลงทุนอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ชนิดอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มว่าจะลดค่าลงเรื่อย ๆ เช่น เงินบาทที่อ่อนตัวและขาดเสถียรภาพ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ราคาตกลง และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเหมาะสมที่สุดในการซื้อหาทองคำมาไว้ในครอบครองและเก็บออมทองคำที่มีอยู่แล้วไว้ให้นานที่สุด ไม่ว่าจะมีมูลค่าและน้ำหนักมากน้อยเท่าใด เพราะทองคำสามารถสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าและปลอดภัยที่สุดทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว เมื่อคำนึงถึงความต้องการทองคำในตลาดโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
นายพงศ์พันธ์ ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าในประเทศไทยทองคำเป็นสื่อการลงทุนที่สำคัญอย่างยิ่งมาเป็นเวลาช้านานหลายศตวรรษแล้วไม่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร และในวิกฤติเศรษฐกิจขณะนี้ทองคำยังคงเป็นเครื่องมือการลงทุนที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท ราคาหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ การลงทุนกับทองคำยังมีข้อได้เปรียบเหนือการเล่นหุ้นหรือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากทองคำเป็นสินค้าที่ขายและแลกเปลี่ยนได้สะดวกรวดเร็ว จึงสามารถใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางด้านการเงินได้ และการเก็บทองคำไว้เป็นเวลานานยังสามารถเพิ่มพูนผลกำไรให้แก่เจ้าของได้เนื่องจากราคาทองคำมักจะเพิ่มขึ้นไปตามเวลา
จากการวิจัยของสมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลก ยังชี้ให้เห็นว่าวิกฤติการณ์ค่าเงินเฟ้อที่ทำท่าว่าจะพุ่งสูงขึ้นและการขาดเสถียรภาพของเศรษฐกิจและค่าเงินของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะทำให้การลงทุนด้วยทองคำเป็นทางเลือกที่สวนกระแสแต่ก็มีแนวโน้มว่าจะให้ผลดี เนื่องจากการคิดมูลค่าทองคำเป็นเงินดอลล่าร์สหรัฐมีความมั่นคงกว่าค่าเงินสกุลอื่น ๆ และถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำและส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ค้าทองคำขนาดเล็ก ในอนาคตอันใกล้เศรษฐกิจของประเทศไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นและจะทำให้ยอดจำหน่ายเครื่องประดับและผลิตภัณฑ์ทองคำภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงในช่วงต้นปีหน้านี้
นายพงศ์พันธ์ กล่าวต่อไปว่า "อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการค้าและการส่งออกเครื่องประดับทองคำยังคงคึกคักอยู่มากเมื่อเทียบกับตลาดภายในประเทศ เนื่องจากมีปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญ เช่น ค่าเงินบาทที่ลอยตัวทำให้ค่าจ้างแรงงานในประเทศถูกกว่าเมื่อคิดเป็นหน่วยเงินดอลล่าร์สหรัฐ และความประณีตของช่างฝีมือไทยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ทำให้สินค้าเครื่องประดับทองคำที่ส่งออกจากประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้นทั้งทางด้านคุณภาพและราคา"
และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลกจึงร่วมส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทองคำของไทย โดยการเชิญตัวแทนผู้ผลิตและผู้บริหารจากอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าเครื่องประดับทองคำชั้นนำจากประเทศไทยไปร่วมงานแสดงนิทรรศการเครื่องประดับและผลิตภัณฑ์ทองคำนานาชาติ “โกลด์ เอเชีย’ 97” ระหว่าง วันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2540 ณ เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อร่วมแสดงผลงานชิ้นโบว์แดง เรียนรู้เทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตเครื่องประดับนานาชาติ กลยุทธ์การตลาดใหม่ ๆ แนวโน้มแฟชั่นที่ทันสมัยล่าสุด ประชาสัมพันธ์องค์กรฯ และร่วมสัมมนาในหัวข้อต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ
"ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องประดับทองคำในประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูชื่อเสียงทางด้านความประณีต และความชำนาญของฝีมือการออกแบบและการผลิตเครื่องประดับและผลิตภัณฑ์ทองคำของช่างฝีมือชาวไทยให้กลับฟื้นคืนมาเช่นเดิมถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมา เก็บออมและลงทุนกับทองคำมากขึ้นอีกด้วย" นายพงศ์พันธ์ กล่าวสรุป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ