กรุงเทพ--29 ธ.ค.--กระทรวงพาณิชย์
EU นำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากไทยเพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์ แนวโน้มความต้องการอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนสินค้ากุ้งนำเข้าลดลงเนื่องจากถูกตัด GSP ลง 50 เปอร์เซ็นต์
นับตั้งแต่สหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากอินเดีย บังคลาเทศ และมาดากัสการ์ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 เป็นต้นมา เนื่องจากปัญหาเรื่องสุขอนามัยในตัวสินค้าที่นำเข้าจากประเทศดังกล่าว สินค้าที่มีผลกระทบได้แก่ กุ้ง (อินเดีย บังคลาเทศ และมาดากัสการ์) ปลาหมึก (อินเดีย) และปลาทูน่ากระป๋อง (มาดากัสการ์) ในปี 2539 ปริมาณการส่งออกกุ้งจากอินเดียมีปริมาณ 20,000 ล้านตันหรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 90 ล้าน ECU (1 ECU = 1.14 U$ หรือประมาณ 55 บาท ตามค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลง) ปริมาณการส่งออกกุ้งจากบังคลาเทศมีปริมาณ 11,000 ล้านตันหรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 90 ล้าน ECU และปริมาณการส่งออกกุ้งจากมาดากัสการ์มีปริมาณ 5,700 ล้านตันหรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 42 ล้าน ECU
แม้ว่าการนำเข้าสินค้าประมงจากอินเดียจะมีสัดส่วนเพียง 20% ก็ตาม แต่ผลกระทบที่เกิดจากการห้ามนำเข้าใน EU ทำให้อินเดียต้องหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาด EU อาจส่งผลให้ราคาในตลาดโลกลดลงได้
การเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้ากุ้งจากไทย อันเนื่องมาจากการตัดสิทธิ GSP ลง 50% ส่งผลกระทบให้ปริมาณการส่งออกกุ้งไทยไป EU ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2540 ลดลง 12% เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกรวมของปี 2539 หรือส่งออกลดลง 7% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2539 คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 18 พันล้านบาทหรือประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ผู้นำเข้าสินค้าประมงจากประเทศที่ถูกห้ามนำเข้าดังกล่าว มีความสนใจที่จะนำเข้าสินค้าจากประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากขึ้น อาจจะเป็นโอกาสดีในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของไทยได้มากยิ่งขึ้นจากปริมาณนำเข้า 40,000 ล้านตันของ 3 ประเทศที่ถูกห้ามนำเข้า
แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติเพราะการขาดแคลนสินค้าแทนที่จะส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดสูงขึ้น กลับทำให้เกิดความผันแปรของราคาสินค้า (potential price spiral) และทำให้ราคาสินค้าประมงในตลาดโลกลดลงได้ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น แต่คาดว่าแนวโน้มราคาในตลาด EU จะปรับตัวสูงขึ้นอีกหลังจากเดือนกันยายนเป็นต้นไป
สำหรับสินค้าปลาทูน่าจากปรากฏการณ์เอล นีโย่ (El Nino) ได้ส่งผลกระทบให้จำนวนปลาทูน่าในท้องทะเลลดลงเป็นอันมาก แต่ปริมาณปลาทูน่าที่จับได้ในย่านตะวันออกของแปซิฟิกกลาง (Eastern Central Pacific) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2540 มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 220,000 ล้านตัน สูงขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปี 2539 อาจเนื่องจากเรือประมงที่ใช้จับปลาทูน่ามีจำนวนมากขึ้นหลังจากสิ้นสุดการรณรงค์ปกป้องปลาโลมา (dolphin ban)
ปลาทูน่าพันธุ์เยลโลฟิน (yellowfin) ที่จับได้ในย่านแปซิฟิกตะวันออก (Eastern Pacific) มีปริมาณเพิ่มขึ้นเท่ากับ 150,000 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปลาทูน่าพันธุืสคิปแจค (skipjack) มีปริมาณเพิ่มขึ้นเท่ากับ 55,800 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 47,800 ล้านตันจากช่วงเดียวกับของปี 2539
ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2540 ไทยส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นเท่ากับ 67,000 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้น 16% หรือคิดเป็นมูลค่า 4.56 พันล้านบาท แต่ความได้เปรียบด้านการส่งออกของไทยอาจมีอุปสรรคเกิดขึ้นจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) จากตลาดในบางประเทศ
ต้นทุนการผลิตของไทยปรับตัวสูงขึ้น 10% เนื่องจากราคาเครื่องปรุงและส่วนผสมนำเข้าที่ใช้ในการผลิตสูงขึ้นและจากภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีความชำนาญ ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยได้แก่ EU สหรัฐฯ แคนาดา
ความต้องการสินค้าปลาทูน่าจากไทยในตลาด EU อยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากในปีนี้ ภูมิภาคทางเหนือของยุโรปมีสภาพอากาศที่อบอุ่นเป็นพิเศษ ส่งผลทำให้การบริโภคมีมากขึ้น ส่วนทางใต้ของยุโรปมีสภาพอากาศเป็นปกติ ซึ่งในเขตนี้มีปริมาณการบริโภคในอัตราที่สูงตามปกติอยู่แล้ว และการที่โรงงานผลิตปลากระป๋องในยุโรปได้เปิดดำเนินการอีกครั้งหลังจากเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความต้องการวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น และจะส่งผลให้ราคาปลาทูน่ากระป๋องคงตัวอยู่ในระดับสูงจนกระทั่งเสร็จสิ้นกระบวนการการผลิตอย่างสมบูรณ์--จบ--