กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--บล.กสิกรไทย
บล.กสิกรไทยโชว์ผลงานไตรมาส1 กำไรสุทธิกว่า 300ล้านบาทคาดบริการใหม่KSAutomated Trading Systemและ Offshore Trading ตัวช่วยขยายฐานลูกค้าพร้อมผลัดดันโครงการ KS Kampusอย่างต่อเนื่องสู่ปีที่2 จับมือตลาดหลักทรัพย์ฯและจุฬาฯ สร้างองค์ความรู้ด้านการลงทุนให้ลูกค้าจากผู้มีชื่อเสียงชั้นแนวหน้าทั้งไทยและเทศ
นายธิติ ตันติกุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แถลงผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2558ว่าบริษัทฯมีตัวเลขผลประกอบการเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2558 เท่ากับ300ล้านบาทเพิ่มขึ้น 30% จากกำไรสุทธิในปี2557ที่ 900 ล้านบาท เนื่องจากช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ตลาดอยู่ในทิศทางบวก ส่งผลให้ตัวเลขปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาดเพิ่มขึ้นกว่า 20 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะปริมาณการซื้อขายจากนักลงทุนรายย่อย จากภาวะตลาดที่อยู่ในทิศทางที่ดีในช่วงไตรมาสแรกของปีส่งผลให้บริษัทฯสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในไตรมาสที่1 ปี2558 เป็นร้อยละ4.48 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ4.19 โดยมีจำนวนลูกค้าใหม่อยู่ที่ 6,600 คน เพิ่มขึ้นกว่า 20 % เมื่อเทียบกับจำนวนลูกค้าใหม่ในปี 2557
ทั้งนี้บริษัทฯ คาดการณ์ว่าตลาดในช่วงครึ่งปีหลังอาจมีความผันผวน บริษัทจึงได้เตรียมความพร้อมให้กับนักลงทุนโดยการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนครบทุกรูปแบบ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เช่น KS Super Stock Mobile Application ที่ช่วยให้ข้อมูลด้านการลงทุน , หุ้นกู้อนุพันธ์ , บริการนายหน้าซื้อขายสัญญาล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาหุ้นแบบปริมาณมาก (Single Stock Futures Block-Trade) เป็นต้น ในปี 2558 นี้ บริษัทฯจะนำเสนอผลิตภัณฑ์/บริการ ใหม่ 2 รายการได้แก่ KS Automated Trading System (K-STAs) ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์อัติโนมัติที่ซื้อขายได้ทั้งหุ้นและอนุพันธ์ เจ้าแรกในประเทศไทย และ Offshore Trading บริการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2558 บริษัทฯจะยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการลงทุน การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการเพิ่มช่องทางการลงทุนให้กับลูกค้าอย่างครบวงจรที่สุด เพื่อเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารพอร์ตการลงทุนให้มีผลตอบแทนที่พอใจได้ในทุกสภาวะตลาด ควบคู่ไปกับการวางกลยุทธ์รวมกันกับธนาคารกสิกรไทยเพื่อขยายฐานลูกค้าในทุกช่องทางได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ อีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่บริษัทเน้นย้ำ คือการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการลงทุนให้กับลูกค้า เพื่อเป็นการติดอาวุธก่อนเข้าสู่สนามการลงทุนได้อย่างมั่นใจ บริษัทได้สานต่อโครงการ KS Kampusสถาบันเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการลงทุน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยในครั้งนี้ มีเป้าหมายหลักที่จะพัฒนาความรู้เรื่องการลงทุนในขั้นสูงให้กับลูกค้า พร้อมความพิเศษโดยเปิดให้นักลงทุนทั่วไปที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้ ด้านเนื้อหาของคอร์สการอบรม บริษัทได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนาหลักสูตรพิเศษนี้ขึ้น โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีชื่อเสียงจากทั้งในและต่างประเทศ ร่วมให้ความรู้แบ่งปันประสบการณ์ด้านการลงทุนอย่างใกล้ชิด พร้อมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการลงทุนให้ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคน
“สิ่งที่เราอยากเห็นจากโครงการนี้คือลูกค้าของเราทุกคน มีความพร้อมก่อนการลงทุน ทั้งการพร้อมเรื่องข้อมูลที่เพียงพอ พร้อมในด้านกระบวนการคิดวิเคราะห์ข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน และความพร้อมในการพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เหมาะสมและตรงตามความต้องการเพื่อผลตอบแทนที่ดีที่สุด และสามารถสร้างความสุขในการลงทุนได้อย่างยั่งยืน “ นายธิติกล่าว
ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกที่ถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคซึ่งกระทบการส่งออกที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอจากภาวะหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นและราคาพืชผลตกต่ำ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และงบประมาณการลงทุนของภาครัฐที่เข้าสู่ระบบมากขึ้น จะสนับสนุนให้ภาคการส่งออกและการลงทุนรวมถึงการบริโภคในประเทศจะทยอยฟื้นตัว ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของประเทศในปี 2558 น่าจะเติบโตได้ที่ร้อยละ 2.8
แนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) มีโอกาสปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่น่าจะกลับมาพร้อมกับการนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งในช่วงต้นปีหน้าตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยประเมินดัชนีเป้าหมายที่ระดับ 1,620 จุด