กรุงเทพ-- 21 ส.ค.--วท.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทศโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) ได้ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาวัสดุเหลือใช้จากโรงงานปลากระป๋อง เพื่อใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ถึงระดับหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรลดต้นทุนปัจจัยการผลิต และปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้ว วท. ยังได้เล็งเห็นความสำคัญของวัสดุเหลือใช้ดังกล่าวสามารถนำมาพัฒนาเป็นอาหารสัตว์เป็นแหล่งโปรตีน เพื่อใช้ทดแทนการใช้ปลาป่นในอาหารสัตว์ โดยทั่วไปปลาป่นจะประกอบด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และเกลือแร่ต่างๆ นั้น โปรตีนจัดเป็นสารอาหารที่สำคัญพื้นฐานในการสร้างสูตรอาหาร ถ้าสูตรอาหารมีโปรตีนน้อยเกินไป การเจริญเติบโตของสัตว์จะลดลง แต่ถ้าสูตรอาหารมีโปรตีนสูงเกินไปแล้ว นอกจากจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นและไม่สัมพันธ์กับระดับพลังงานในอาหาร ก็จะส่งผลให้การเจริญเติบโตของสัตว์ลดลง
แหล่งโปรตีนในการผลิตอาหารสัตว์ในปัจจุบันได้แก่ ปลาเป็ด ซึ่งอาจนำมาใช้ในรูปของปลาสดหรือปลาป่น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการผลิตปลาป่นมักพบในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง กระบวนการผลิต้องใช้แรงงานที่มีความชำนาญ และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงค่อนข้างสูง ดังนั้นการใช้ปลาป่นเป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ จึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสัตว์เพิ่มขึ้น และที่สำคัญเกษตรกรไม่สามารถผลิตปลาป่นได้ด้วยตนเอง
วท.ได้ทำการศึกษาวิจัยโดยการนำเอาวัสดุเหลือใช้จากปลา เช่น เลือด อวัยวะภายใน และเหงือกของปลามาหมักด้วยกรดอินทรีย์ โดยใช้ปริมาณกรด 3.5% โดยน้ำหนักใช้เวลาในการหมักประมาณ 3-4 สัปดาห์ จากนั้นนำไปเคี่ยวให้เข้มข้น (เศษปลาหมักที่ได้มีปริมาณโปรตีนประมาณ 20%) สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผสมกับส่วนผสมของอาหารสัตว์จำพวกอื่นๆ โดยใช้ทดแทนปลาป่นได้ ซึ่งจากการทดลองโดยการผสมกับกากถั่วเหลือง ปลายข้าว รำละเอียด น้ำมันพืช สารปฏิชีวนะ และวิตามินรวม สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของปลาดุกและปลานิลได้ดีเท่ากับการใช้ปลาป่น ซึ่งวิธีการดังกล่าวเกษตรกรสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ วท.จะได้นำไปทดลองเลี้ยงสัตว์ปีกต่อไปอีกด้วย
สนใจรายละเอียดโปรดติดต่อ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) 196 พหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 5791121-30, 5790160, 5795515 ต่อ 2319--จบ--