กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกระทรวงมหาดไทย โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2558 จำนวน 36 จังหวัด 239 อำเภอ 1,336 ตำบล 12,023 หมู่บ้าน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงได้เร่งรัดดำเนินงาน 4 มาตรการ เป็นนโยบายเร่งด่วนในการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งทั่วประเทศ ได้แก่
มาตรการที่ 1 เร่งรัดการดำเนินงาน 3 โครงการหลักของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ประกอบด้วย โครงการพัฒนาแหล่งบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ หรือโครงการน้ำโรงเรียน และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่งเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง 31 จังหวัด จำนวน 1,321 หมู่บ้าน ให้แล้วเสร็จก่อน ส่วนระยะที่สอง จะเร่งดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ อีก 1,347 หมู่บ้าน เพื่อให้ครบตามเป้าหมายทั้งสิ้น 2,668 หมู่บ้าน คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 นี้ ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถให้บริการประชาชนได้กว่า 500,000 คน คิดเป็นปริมาณน้ำประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
มาตรการที่ 2 ดำเนินการพัฒนาน้ำบาดาลในพื้นที่ทั่วประเทศ เป้าหมายรวม 2,668 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เมื่อดำเนินงาน แล้วเสร็จจะได้ปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ประโยชน์ได้ 65,568 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์136,600 ครัวเรือน เป้าหมาย 683 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 536 แห่ง (ร้อยละ 78) มีปริมาณน้ำบาดาล ที่ใช้ประโยชน์ได้ 51,456 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 107,200 ครัวเรือน
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ เมื่อดำเนินงานแล้วเสร็จจะได้ปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ประโยชน์ได้ 67,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 140,000 ครัวเรือน เป้าหมาย 700 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลแล้วเสร็จ 642 แห่ง (ร้อยละ 92)
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง เมื่อดำเนินงานแล้วเสร็จ จะได้ปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ประโยชน์ได้ 106,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์12,610 ครัวเรือน เป้าหมาย 1,285 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลแล้วเสร็จ 907 แห่ง (ร้อยละ71) มีปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ประโยชน์ได้ 72,560 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 3,628 ครัวเรือน
มาตรการที่ 3 โครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง” ปี 2558 ประกอบด้วย 5 หน่วยงาน คือ กองทัพบก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยเปิดจุดจ่ายน้ำถาวรทั่วประเทศ 87 แห่ง เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำแก่ประชาชน ปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้นำน้ำบาดาลสะอาดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งไปแล้ว กว่า 5 ล้านลิตร?
มาตรการที่ 4 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีการปรับเปลี่ยนแผนงบประมาณประจำปี โดยได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2558 เพิ่มเติม จำนวน 1,576 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 5 โครงการ ได้แก่
- โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 892 แห่ง วงเงิน 713.60 ล้านบาท เมื่อดำเนินงานแล้วเสร็จจะได้ปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ประโยชน์ได้ 85,632 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 178,400 ครัวเรือน
- โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลที่มีคุณภาพเพื่อใช้ในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาความ ขาดแคลนน้ำของประชาชนในพื้นที่แล้งซ้ำซากและมีปัญหาคุณภาพน้ำเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 15 แห่ง วงเงิน 291.01 ล้านบาท เมื่อดำเนินงานแล้วเสร็จจะได้ปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ประโยชน์ได้ 12,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 15,000 ครัวเรือน
- โครงการศึกษาสำรวจและจัดทำแผนที่น้ำบาดาลขั้นรายละเอียดมาตราส่วน 1 : 50,000 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จำนวน 87 ระวาง วงเงิน 242.06 ล้านบาท เมื่อดำเนินงานแล้วเสร็จจะสามารถแสดงศักยภาพแหล่งน้ำบาดาล ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ 9 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ลพบุรี สระบุรี ปราจีนบุรี สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งจะใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำบาดาล ในพื้นที่และวางแผนแก้ไขปัญหาภัยแล้งในอนาคต
- โครงการสำรวจและศึกษาค่าพื้นฐานโลหะหนักในน้ำบาดาลในพื้นที่ภาคกลางและตะวันออก จำนวน 28 แห่ง วงเงิน 314.52 ล้านบาท เมื่อดำเนินงานแล้วเสร็จจะได้แนวทางการบริหารจัดการและแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมที่พร้อมดำเนินการเพื่ออนุรักษ์คุณภาพน้ำบาดาล ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวน 28 จังหวัด
- โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ จำนวน 1 ระบบวงเงิน 15 ล้านบาท เมื่อดำเนินงานแล้วเสร็จจะช่วยพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศของกรมทรัพยากร น้ำบาดาลกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยทั้ง 5 โครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเสนอแล้ว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณและดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง