กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--กระทรวงพลังงาน
กระทรวงพลังงานชี้แจง การบริหารจัดการแอลพีจี ภาคขนส่ง เป็นการดำเนินการระยะยาวภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ต้องรวบรวม และรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ชี้แนวโน้มความนิยมก๊าซแอลพีจีที่ลดลง เป็นผลจากกลไกราคา คุณภาพเชื้อเพลิง ความปลอดภัย และประเภทของเชื้อเพลิงทางเลือกที่เพิ่มขึ้น
นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)สำหรับรถยนต์ มีความวิตกว่า กระทรวงพลังงานกำลังจะเสนอให้มีการปรับภาษีสรรพสามิตสำหรับแอลพีจี และจัดเก็บภาษีนำเข้าอุปกรณ์ตัวถังแอลพีจี(LPG) ที่จะนำมาติดตั้งใช้ในรถยนต์ ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ กระทรวงพลังงานขอชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้
ในระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แผนหลัก ในการวางกรอบแผนพลังงานในภาพรวม ส่วนอีก 4 แผนได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP)แผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP)แผนอนุรักษ์พลังงาน (EE) และ แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)ซึ่งการจัดทำแผนพลังงานดังกล่าวมีกำหนดแล้วเสร็จและนำเสนอ 3 แผนแรก (PDP AEDP EE) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)14 พฤษภาคมนี้ ส่วนการดำเนินการตามแผนในรายละเอียดนั้น เป็นการดำเนินงานในระยะยาว ซึ่งต้องผ่านการกำหนดนโยบาย และแผนปฏิบัติการในระยะต่อไป
สำหรับเชื้อเพลิงแอลพีจีนั้น ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่ได้รับความนิยม โดยได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในอดีต โดยราคาแอลพีจีในภาคขนส่ง ได้ผูกติดกับราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนที่ก่อนหน้านี้ภาครัฐให้การอุดหนุน แต่ภาครัฐก็ไม่เคยมีนโยบายส่งเสริมการให้แอลพีจีในภาคขนส่ง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการใช้พลังงานผิดประเภท อีกทั้งมีปัญหาทั้งด้านความปลอดภัย และมาตรฐานการติดตั้ง
ต่อมาเมื่อกระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ก็ได้กำหนดแนวทางผลักดันการใช้เชื้อเพลิงทดแทนทั้งเอทานอลไบโอดีเซล และ ไฟฟ้า ซึ่งมีปริมาณและสัดส่วนการใช้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงได้มีการศึกษาและพิจารณาบทบาทของแอลพีจีในภาคขนส่งในระยะยาว ว่าอาจจะมีบทบาทลดลงตามกลไกอยู่แล้ว อีกทั้งแม้ว่ารัฐบาลจะไม่เคยมีนโยบายส่งเสริมการใช้แอลพีจีภาคขนส่งอย่างจริงจัง แต่ก็มีผู้ใช้ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเป็นจำนวนมาก จึงอาจที่จะมีการปรับตัวเพิ่มเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลทั้งจากราคาในตลาดโลกและกลไก ที่กระทรวงพลังงานได้ปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เกิดความธรรมในทุกภาคส่วน ส่งผลให้ส่วนต่างราคาระหว่างราคาน้ำมัน และก๊าซแอลพีจีแคบลง ผู้ใช้รถยนต์จึงหันมาใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดร้านค้า ความเชื่อมั่นในคุณภาพ และความปลอดภัยของผู้ใช้ รวมถึงสอดคล้องกับทิศทางของพลังงานทางเลือกในอนาคต ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน โดยกรมธุรกิจพลังงาน ได้จัดการประชุมกลุ่ม (Focus Group) กับผู้ประกอบการธุรกิจก๊าซแอลพีจี ในภาคขนส่ง เพื่อรับทราบ และยังให้มีการศึกษาผลกระทบ ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการปรับตัว รองรับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวต่อไป”นายทวารัฐ กล่าว