กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--สพธอ.
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2558 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เปิดเวที Open forum ในหัวข้อ “กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หากเป็นกฎหมายกลางจะมีผลกระทบกับกฎหมายที่ใช้บังคับไปแล้วอย่างไรบ้าง” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารอบที่ 3 ซึ่งเป็นร่างที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม รวมถึงมีประเด็นข้อถกเถียงรวมอยู่ด้วย
กนกอร ฉวาง พนักงานปฏิบัติการระดับสูงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เสนอมุมมอง เรื่องกลไกการบังคับใช้ในการเป็นกฎหมายกลาง โดยเน้นประเด็นเรื่องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ ซึ่งกฎหมายของ กสทช. จะครอบคลุมเฉพาะเรื่องบริการโทรคมนาคมเป็นหลัก จึงทำให้ไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างรอบด้าน ดังนั้นการที่จะมีกฎหมายกลางเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลย่อมเป็นการดี
รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น เสริมว่า ปัจจุบันเราถูกเก็บข้อมูลจากทั้งรัฐและเอกชน ทำให้ทุก วันนี้ เราไม่รู้ตัวเลยว่าเรากำลังถูกเก็บข้อมูลอะไรอยู่บ้าง ซึ่งการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลจะรุนแรงขึ้นอีก เมื่อยุคของ Internet of Things ( IoT) ที่อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ จะสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้มาถึง ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่นเดียวกับประเทศในสหภาพยุโรปและประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ที่มีกฎหมายนี้มานานแล้ว
ดร.นพ. บดินทร์ ทรัพย์สมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ใหม่ที่ผ่านการปรับแก้ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้วระดับหนึ่ง ได้กำหนดหลักเกณฑ์โดยละเอียดและชัดเจนซึ่งง่ายต่อการนำไปปรับใช้ เช่น นิยามต่าง ๆ การให้ความยินยอม โดยร่าง พ.ร.บ. ใหม่นี้จะทำให้คนทำงานด้านสุขภาพไม่ต้องกังวลว่าการกระทำต่าง ๆ ที่ได้กระทำนั้นจะผิดกฎหมายหรือไม่อีกต่อไป
วารุณี รัชตพัฒนากุล Consultant - Thailand Committee กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (Business Software. Alliance – BSA) สะท้อนในมุมของภาคอุตสาหกรรมซอฟต์ท์แวร์ เช่น ประเด็นนิยามคำว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” ซึ่งร่างเดิมได้นำมาจาก APEC ซึ่งในมุมของอุตสาหกรรมเห็นว่ากว้างเกินไป ทั้งนี้อยากเห็นกฎหมายที่ชัดเจน ว่าสิทธิขั้นพื้นฐานได้รับการเคารพ ต้องมีการถ่วงดุลและตรวจสอบ จึงขอให้ผู้ร่างกฎหมายคำนึงถึงหลักการนี้ และอยากให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหากรรมซอฟต์แวร์ฯ ได้มีโอกาสในการเสนอความเห็นในโอกาสต่อไป
นอกจากนี้ สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ได้อัปเดตร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัลล่าสุดว่า ร่าง พ.ร.บ. ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรมฯ ได้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เพื่อรับหลักการวาระ 1 แล้วเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ส่วนกฎหมายอื่น ๆ ก็มีทั้งที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเพิ่งพิจารณาเสร็จ และที่อยู่ระหว่างการพิจารณา คือ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จะพิจารณาในลำดับถัดไป