EMOJI กับ วันพืชพรรณสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์โลก (Endangered Species Day)

ข่าวทั่วไป Friday May 15, 2015 11:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--WWF-ประเทศไทย EMOJI กับ วันพืชพรรณสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์โลก (Endangered Species Day)คุณรู้หรือไม่ว่า แท้ที่จริงแล้วมีตัวอักษร Emoji ถึง 17 ตัวอักษร ที่เราใช้สื่อสารกันในโลกโซเชียลเป็นรูปของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ! วันศุกร์ที่ 3 ในเดือนพฤษภาคมของทุกปีคือ "วันพืชพรรณสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์โลก" หรือ “Endangered Species Day” ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2549 อันเป็นวันที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าและพืชพรรณทั่วโลกจะจัดกิจกรรมหรือเผยเเพร่บทความต่างๆ เพื่อเป็นการระลึกว่า ในโลกนี้ยังมีสัตว์ป่าหรือพืชพรรณที่อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์อยู่รอบตัวเราและพวกเราทุกคนจะต้องช่วยกันรักษาไว้ โดยในปีนี้ WWF ได้ใช้ “Emoji” สื่อสารผ่านแคมเปญ #EndangeredEmoji เพื่อสร้างความตระหนักในชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เพื่อช่วยกันปกป้องสัตว์ป่าเหล่านี้ สำหรับ Emoji ที่มีลักษณะคล้ายกับชนิดพันธุ์สัตว์ป่านานาชนิดที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) และใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered) ได้แก่ ช้างเอเชีย เสือโคร่ง เสือโคร่งสุมาตรา จระเข้พันธุ์สยาม แพนด้ายักษ์ เต่าตนุ ลิงสไปเดอร์ วาฬสีเทาตะวันตก โลมาเมาอิ หมาป่าแอฟริกัน เสือดาวอามูร์ เพนกวินกาลาปากอส กบใบไม้ลีเมอร์ วาฬสีน้ำเงิน งูแอนติกวน อูฐสองหนอก และปลาทูน่าครีบน้ำเงิน โดยรายงาน Living Planet Report ของ WWF ได้เปิดเผยข้อมูลวิกฤตการณ์การสูญเสียจำนวนประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น ปลา นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลาน ที่หายไปจากโลกมากกว่า 52 เปอร์เซ็นต์จากที่เคยมีอยู่ทั้งหมด ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 40 ปีที่ผ่านมา และการสูญเสียดังกล่าว เกิดขึ้นในทวีปเอเชียเป็นอันดับสอง รองจากทวีปอเมริกาใต้ ตัวอักษร Emoji ถือได้ว่าเป็นตัวอักษรที่เป็นภาษาสากลสำหรับคนทั้งโลกที่ใช้ร่วมกัน และตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา ตัวอักษร Emoji ได้ถูกใช้ไปกว่า 202 ล้านครั้งบนทวิตเตอร์ และมีสถิติการใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยแคมเปญนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยเอเยนซี่โฆษณาชื่อดังระดับโลกคือ Wieden+Kennedy จากกรุงลอนดอน เพื่อเป็นการระดมทุนจากคนทั่วไปที่สื่อสารผ่านทางทวิตเตอร์ ทุกครั้งที่ใช้ Emoji จะช่วยบริจาคเงินให้กับ WWF เพื่อการทำงานในการปกป้องสัตว์ป่าเหล่านี้ โดยชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.endangeredemoji.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ