กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
“อำนวย” เปิดงานแข่งขันสาวไหมและงานส่งเสริมการตลาดผ้าไหม หวังประชาสัมพันธ์และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ้าไหมที่ผ่านการรับรองตรานกยูงพระราชทานและผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งด้านการผลิตและการแปรรูป
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหม ร่วมกับ จังหวัดมหาสารคาม กำหนดจัดงาน “ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานในภูมิภาค และงานแข่งขันสาวไหมไทยพื้นบ้าน การประกวดกองเชียร์สาวไหม และแข่งขันทำสิ่งประดิษฐ์จากรังไหม ประจำปี 2558” ระหว่างวันที่ 15 – 17 พฤษภาคม 2558 ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม วัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ้าไหมที่ผ่านการรับรองตรานกยูงพระราชทานและผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมให้กว้างขวางและแพร่หลายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจากทั่วภูมิภาคของประเทศได้มีโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งด้านการผลิตและการแปรรูปกัน
นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันจังหวัดมหาสารคามมีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจำนวน 9,000 ราย กรมหม่อนไหมได้ดูแลส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำมาโดยตลอด สำหรับในด้านการตลาดนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในการผลิตสินค้าเกษตร หากมีการบริหารจัดการไม่ดีอาจทำให้เกิดปัญหาได้ ซึ่งกิจกรรมที่กรมหม่อนไหมได้จัดนี้จะทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้มีโอกาสมีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผ้าไหมไทยของเรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความมันวาวสวยงาม ผสมผสานกับภูมิปัญญาในด้านการทอ การออกแบบลวดลายที่งดงามซึ่งประยุกต์มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้ผ้าไหมไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ดังนั้นเกษตรกรจะต้องช่วยกันรักษาคุณภาพและมาตรฐานให้ได้ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถได้ทรงพระราชทานตรานกยูงพระราชทาน เพื่อรับรองคุณภาพผ้าไหมไทย แบ่งเป็น 4 ชนิด ได้แก่ นกยูงสีทอง นกยูงสีเงิน นกยูงสีน้ำเงิน และนกยูงสีเขียว โดยติดบนผืนผ้าที่ผ่านการตรวจรับรองจากเจ้าหน้าที่ของกรมหม่อนไหม เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการซื้อผ้าไหมมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
“นับเป็นสิ่งดีที่เกษตรกรร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยเฉพาะการสาวไหมไทยพื้นบ้านนั้น มีเสน่ห์และศิลปะอย่างหนึ่ง สามารถจัดทำเป็นกิจกรรมสอดแทรกในจุดท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้านหม่อนไหมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เกษตรกรยังควรมีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตหม่อนไหมนอกเหนือจากการทอผ้าไหม โดยการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตหม่อนไหมชนิดอื่นๆ เช่น การทำสิ่งประดิษฐ์จากรังไหม การแปรรูปดักแด้ การผลิตเครื่องสำอางจากโปรตีนไหม การทำชาหม่อน น้ำหม่อนพร้อมดื่ม การทำไอครีมจากผลหม่อน เป็นต้น ซึ่งองค์ความรู้ทั้งหมดเหล่านี้ กรมหม่อนไหมได้ถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร ทำให้ เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีความมั่นใจในการทำอาชีพนี้มากยิ่งขึ้น และเกษตรกรบางรายสามารถยึดอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพหลัก ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น” นายอำนวย กล่าว
ด้าน นางวีณา พงศ์พัฒนานนท์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหมมีภารกิจในการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาดผลิตภัณฑ์ ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน จึงจัดโครงการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานในภูมิภาค พร้อมกับการแข่งขันสาวไหม การประกวดกองเชียร์ และการแข่งขันทำสิ่งประดิษฐ์จากรังไหม รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ หมุนเวียนจัดกิจกรรมงานไปตามจังหวัดต่างๆ ที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นจำนวนมาก และในปีนี้กรมหม่อนไหมร่วมกับจังหวัดมหาสารคามเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี เมืองมหาสารคาม และด้วยจังหวัดมหาสารคามมีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมากกว่า 9,000 ราย ได้ผลผลิตเส้นไหมปีละประมาณ 38 – 40 ตัน มีการผลิตผ้าไหมลายที่มีชื่อเสียงและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดคือ ลายสร้อยดอกหมาก ซึ่งในปีนี้มีการแข่งขันสาวไหมไทยพื้นบ้านจำนวน 60 ทีม เพื่อส่งเสริมและร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น การประกวดกองเชียร์สาวไหมเพิ่มความสนุกสนานในงาน และการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์จากรังไหมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สูงขึ้น
นอกจากนี้ การส่งเสริมการตลาดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานในภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ้าไหมที่ผ่านการรับรองตรานกยูงพระราชทานและผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมให้กว้างขวางและแพร่หลายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจากทั่วภูมิภาคของประเทศได้มีโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งด้านการผลิตและการแปรรูปกัน ซึ่งภายในงานดังกล่าว จะมีการจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหมจากทั่วทุกภาคของประเทศ กว่า 60 ร้าน และผู้จำหน่ายจากกลุ่มต่างๆ อาทิ OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ ร้านค้าของกรมการค้าภายในและพาณิชย์จังหวัดมหาสารคาม อีกกว่า 40 ร้านค้า กว่า 100 ร้านค้า