กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
เกษตรกรในเขตโครงการชลประทาน ยม-น่าน และเขื่อนนเรศวร เฮ..หลังกรมชลประทาน ขยับเวลาการส่งน้ำเร็วขึ้น 1 เดือน เพื่อเริ่มทำนาปีให้เร็วขึ้น หลีกน้ำหลากป้องกันข้าวเสียหาย ด้านโครงการตำบลละล้านคืบ มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติทั้งหมด จำนวน 6,598 โครงการ 3 พันล้านบาท
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มองเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านตอนกลาง ในเขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ที่มักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมขัง ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ จะเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนlสิงหาคม หรือบางปีหากมีการเลื่อนการเพาะปลูก ก็อาจจะเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน ส่งผลให้ผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก จากสภาวะน้ำท่วมขัง
กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการปรับระยะเวลาการทำนาปีในพื้นที่ดังกล่าว ให้เร็วขึ้นอีก 1 เดือน ตามความต้องการของเกษตรกรส่วนใหญ่ จากเดิมที่จะเริ่มทำการเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม เป็นเดือนเมษายน เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเรียบร้อยในเดือนกรกฎาคม ก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก ที่มักจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งการปรับระยะเวลาการทำนาปีนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ได้ดำเนินการ โดยได้เริ่มส่งน้ำมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 เป็นต้นมา ทำให้ตลอดฤดูฝนนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร จะได้รับการจัดสรรน้ำทั้งสิ้นประมาณ 94 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 95,750 ไร่ ส่วนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ได้รับการจัดสรรน้ำจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 264 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 290,694 ไร่
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า “พื้นที่ส่งน้ำทั้งสองโครงการเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำโดยธรรมชาติและไม่มีคันปิดกั้น เมื่อถึงช่วงฤดูน้ำหลากประมาณเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป มักจะเกิดน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำเกือบทุกปี สร้างความเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม และผลผลิตด้านการเกษตร ตลอดจนความเป็นอยู่ของราษฎรเป็นอย่างมาก จึงได้ประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับกลุ่มเกษตรกรและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนได้ข้อสรุปว่า ต้องปรับระยะเวลาการปลูกพืชในพื้นที่ให้เร็วขึ้น โดยเริ่มเพาะปลูกตั้งแต่ 1 เมษายน เป็นต้นไป เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นแก้มลิงตามธรรมชาติ จึงจะต้องให้เกษตรกรทำนาปีก่อนพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2558 ก่อนที่จะถูกน้ำท่วมขัง”
ด้าน ม.ล.อนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคกลางตอนบน คือ จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ว่า ขณะนี้สภาพน้ำท่าในลำน้ำปิง ยม และน่าน มีปริมาณน้ำเฉลี่ยราวร้อยละ 15 ของลำน้ำ ซึ่งน้อยกว่าแผนที่วางไว้ ส่วนปริมาณน้ำต้นทุน ที่มาจาก 3 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล ขณะนี้มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,140 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 8 ของปริมาณการกักเก็บ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,612 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 17 ของปริมาณการกักเก็บและเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำใช้การ 179 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณการกักเก็บ
สำหรับการจัดสรรน้ำเพื่อเพาะปลูกพืชในฤดูฝนปีนี้ โดยเฉพาะการทำนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานได้เริ่มส่งน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา เพื่อให้เกษตรกรเริ่มการเพาะปลูก ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ คาดว่าเกษตรกรจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนฤดูน้ำหลากในเดือนกันยายนนี้
นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมหลังจากลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง โครงการขุดลอกลำรางสาธารณะ หมู่ 5 โดยกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพด หมู่ 5 ณ ตำบลทับยายเชียง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลกอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติทั้งหมด จำนวน 6,598 โครงการ งบประมาณ 3,004.513 ล้านบาท ซึ่งมีตำบลที่ไม่เสนอโครงการ 7 ตำบล คิดเป็นจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 2,605,283 ครัวเรือน เกษตรกรที่ใช้แรงงาน 365,328 ราย คิดเป็น 5,479,926 แรงงาน (manday) ลักษณะของกิจกรรมแบ่งเป็น กิจกรรมเพื่อจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน จำนวน 3,331 โครงการ คิดเป็น 50.48% อาทิ กิจกรรมกำจัดวัชพืชน้ำ คลองส่งน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ, กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร, กิจกรรมซ่อมแซมและขุดฝังท่อน้ำดิบ, กิจกรรมฝายดินเรียงหินยาแนว เป็นต้น กิจกรรมปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จำนวน 2,370 โครงการคิดเป็น 35.92% อาทิ กิจกรรมลานตากข้าวชุมชน, กิจกรรมผลิตและขยายศัตรูธรรมชาติเพื่อป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว, กิจกรรมผลิตปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น กิจกรรมการผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง จำนวน 636 โครงการ คิดเป็น 6.94% อาทิ ผลิตเห็ดนางฟ้า, นางรม, ส่งเสริมการประดิษฐ์กระทงจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นต้น กิจกรรมเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 261 โครงการ คิดเป็น 3.96% อาทิ กิจกรรมเพิ่มศักยภาพศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน เป็นต้น
โดยในส่วนของความคืบหน้าโครงการสร้างรายได้ฯ สำหรับจังหวัดพิษณุโลก เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ทางการเกษตรที่กระทบภัยแล้ง จำนวน 6 อำเภอ 16 ตำบล ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามความต้องการของชุมชน จำนวน 28 โครงการ งบประมาณ 15,842,781 บาท คิดเป็นจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 20,398 ครัวเรือน ค่าจ้างแรงงาน 8,340,028 บาท และค่าวัสดุ 7,502,753 บาท
สำหรับในหมู่ 5 ตำบลทับยายเชียง อำเภอพรหมพิราม เป็นที่ราบสูง มักจะประสบปัญหาภัยแล้งทุกปี แหล่งน้ำธรรมชาติมีน้อย ส่วนมากจะเป็นคลองสาธารณะที่มีลำราง และพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นดินร่วนปนทราย จึงทำให้เกิดการทับถมและตื้นเขินของลำราง ทำให้ทางเดินน้ำไม่สะดวก ดังนั้น ชุมชนในพื้นที่จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการขุดลอกลำรางสาธารณะ หมู่ 5 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในฤดูแล้งอีกด้วย โดยการขุดลอกลำรางสาธารณะมีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 570 เมตร ลึก 1.5 เมตร จำนวน 1 จุด คิดเป็นค่าจ้างแรงงานจำนวน 256,500 บาท ค่าวัสดุ 27,000 บาท งบประมาณรวม 283,500 บาท ซึ่งการดำเนินโครงการนี้ หวังเพื่อให้ชุมชนหมู่ 5 ในตำบลทับยายเชียง มีลำรางที่พัฒนาและมีประสิทธิภาพ และทำให้เกษตรกรในชุมชนมีงานทำ มีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง ทั้งยังมีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนอีกด้วย