กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันที่ ๑๕ พ.ค. ๕๘ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายชินชัย ชี้เจริญ ที่ปรึกษาวิชาการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างเอกสารประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ประกอบการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ปี พ.ศ.๒๕๖๘ (The ASCC Attendant Document for ASEAN Community Vision 2025) ณ ห้องราชเทวี ๒ โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กรุงเทพฯ
นายชินชัย กล่าวว่า ปี พ.ศ.๒๕๕๘ เป็นปีที่มีความสำคัญต่อประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากจะเป็นการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการของ ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียน ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ซึ่งการรวมตัวเป็น “ครอบครัวเดียวกัน” จะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิก ในครอบครัว ในทั้งมิติด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ รวมถึงสังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ ปี พ.ศ.๒๕๕๘ ยังเป็นปีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี ๒๕๕๘ (ASEAN Community’s Post-2015 Vision) เพื่อกำหนดเป้าหมายเชิงผลลัพธ์และแผนงานของประชาคมอาเซียนในระยะเวลา ๑๐ ปี ข้างหน้า (พ.ศ. ๒๕๕๙- ๒๕๖๘)
นายชินชัย กล่าวต่อว่า การจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี พ.ศ.๒๕๕๘ ประกอบด้วย ๕ ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้ คือ
๑)การจัดทำร่างเอกสารประกอบวิสัยทัศน์ภายหลังปี พ.ศ.๒๕๕๘ ของแต่ละประชาคม ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยมีคณะทำงานระดับสูงของแต่ละประชาคม เป็นกลไกในการ
๒) การรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรเฉพาะสาขา ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
๓)การจัดทำเอกสารวิสัยทัศน์ภายหลังปี ๒๕๕๘ ในภาพรวมของประชาคมอาเซียน
๔)ขั้นตอนการรับรองเอกสารภายในประเทศ เช่น การเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ
๕)การเสนอให้ผู้นำอาเซียนรับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ๒๕๕๘ พร้อมด้วยแผนงานประชาคมอาเซียนฉบับใหม่สำหรับปี พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๘ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๗ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
นายชินชัย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๕ ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้เห็นชอบวิสัยทัศน์การเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ว่าเป็นประชาคม “ซึ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วม มีความยั่งยืน มีภูมิคุ้มกัน มีพลวัตร และเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ ต่อประชาชนอาเซียน (An ASEAN Socio-Cultural Community that is inclusive, sustainable, resilient, dynamic and engages and benefits the people)” และเห็นชอบองค์ประกอบหลัก (Central Elements) ที่จะใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ดังนี้
๑)การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสังคมของประชาชนอาเซียน ภายใต้กลไกที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและปลูกฝังการมีสำนึกรับผิดชอบ เพื่อประโยชน์โดยรวมสำหรับทุกคน
๒)ความเท่าเทียมในการเข้าถึงและโอกาสสำหรับทุกคน และการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
๓)การพัฒนา ทางสังคมที่สมดุลกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอบสนองความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคตของประชาชนอาเซียน
๔)เสริมสร้างสมรรถนะในการตั้งรับและปรับตัวเข้ากับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ
๕)เสริมสร้างความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและเป็นสมาชิกของประชาคมโลกที่มีความกระตือรือร้น
“กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หวังว่าการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีในการรับฟังความคิดเห็น จากหน่วยงาน องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย ต่อร่างเอกสารประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ประกอบการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ปี พ.ศ.๒๕๖๘ เพื่อจะได้รวบรวมและประมวลเป็นเอกสารในภาพรวมของประเทศไทย และนำเสนอต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน ก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างเอกสารนี้ในการประชุมคณะทำงานระดับสูงสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนครั้งที่ ๓ ในระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ต่อไป”นายชินชัย กล่าวท้าย