กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
รมว.กษ. เปิดงานเสวนา “วิกฤตการณ์ไข้หวัดนกต่ออุตสาหกรรมไก่เนื้อและเนื้อไก่ไทย” เพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาไข้หวัดนก รวมถึงแนวทางในการปรับปรุงพันธุ์และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดงานเสวนา เรื่อง วิกฤตการณ์ไข้หวัดนกต่ออุตสาหกรรมไก่เนื้อและเนื้อไก่ไทย ณ ห้องรวงข้าว อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า จากสถานการณ์โรคไข้หวัดนกรอบใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในหลายทวีป เป็นปัญหาต่อการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก ตามกฎขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกไก่สายพันธ์เนื้อที่ใหญ่ที่สุดของโลก และถือเป็นแหล่งนำเข้าไก่พันธุ์ระดับปู่ย่าตายายที่สำคัญของประเทศไทยและของโลก ซึ่งไก่พันธุ์เนื้อที่ใช้อยู่ในประเทศไทยเป็นไก่ลูกผสม จำเป็นต้องนำเข้าไก่พันธุ์รุ่นใหม่มาทดแทน เพื่อการขยายพันธุ์และผลิตเป็นลูกไก่เนื้อในอุตสาหกรรมการผลิตไก่เนื้อและเนื้อไก่ของประเทศไทย
นายปีติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า หากเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก จะทำให้ต้องมีการชะลอการนำเข้า ย่อมส่งผลให้เกิดการขาดแคลนลูกไก่เนื้อในอนาคต ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อ โรงเชือดและชำแหละไก่ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง จะมีราคาถูกลงและล้นตลาด แรงงานจำนวนมากจะขาดรายได้ เกิดการขาดแคลนเนื้อไก่บริโภคในประเทศ รวมถึงทำให้การส่งออกเนื้อไก่ ไก่แช่แข็ง และเนื้อไก่แปรรูปลดลง
ซึ่งการเสวนาในครั้ง จัดขึ้นเพื่อร่วมกันวิเคราะห์และระดมความรู้ความคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของประเทศ จากสถานการณ์และปัญหาไข้หวัดนกในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการนำเข้าไก่พันธุ์ ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไก่เนื้อ และผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค รวมถึงแนวทางในการปรับปรุงพันธุ์และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนที่สนใจเป็นจำนวนมาก
“ในฐานะตัวแทนของรัฐบาล มีความรู้สึกห่วงใยต่อสถานการณ์ไข้หวัดนกเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม เพื่อให้การแก้ปัญหาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หรือเพื่อให้ปัญหาเหล่านั้นบรรเทาเบาบางลง โดยได้มีการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะมีการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อลดการนำเข้าในอนาคตอีกด้วย” นายปีติพงศ์ กล่าว