กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เผย ผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 ที่ผ่านมาพบมีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งหมด 435 แห่ง ได้รับการประเมินครบแล้วทุกแห่ง มีผลการประเมินคุณภาพภายนอกในระดับดี-ดีมาก รวม 389 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 89.43 สะท้อนมาจากนโยบายการศึกษาของกรุงเทพมหานครที่มุ่งใช้ประโยชน์จากผลการประเมินสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาโรงเรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การส่งเสริมให้สถานศึกษาพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้รวดเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลการเรียนรู้ การขยายห้องเรียน 2 ภาษา ฯลฯ ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่าในปีการศึกษา 2558 ที่จะเปิดภาคเรียนในเดือน พ.ค.นี้ มีจำนวนเด็กที่มีความประสงค์เข้าโรงเรียนสังกัด กทม. เพิ่มขึ้น โดยมีสถานศึกษาขอขยายการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2 แห่ง และมีสถานศึกษาที่ขอขยายห้องเรียนระดับอนุบาล 21 แห่ง แบ่งเป็น สถานศึกษาที่ขอขยายชั้นอนุบาล 1–2 จำนวน 14 แห่ง และสถานศึกษาที่ขอขยายชั้นอนุบาล 1 จำนวน 7 แห่ง (ข้อมูลจาก กรุงเทพมหานคร) สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวของประชากรในกรุงเทพฯ ที่พบว่ามีเด็กอายุ 0-14 ปีจำนวน 213,373 คน มีอัตราการเกิดของเด็กใน กรุงเทพฯ ปีละ 101,112 คน ประชากรแฝงกว่า 3,000,000 คน และมีแรงงานต่างด้าวอีกกว่า 1,000,000 คน
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่าภาพรวมการประเมินภายนอกรอบ 3 ที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนทั้งหมด 435 แห่ง ได้รับการประเมินครบแล้วทุกแห่ง มีผลการประเมินคุณภาพภายนอกในระดับดี-ดีมาก รวม 389 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 89.43 ทั้งนี้ จากการประเมินคุณภาพภายนอก 15 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีโรงเรียนที่ได้รับการประเมินดีมากต่อเนื่องทั้ง 3 รอบ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่
· โรงเรียนคันนายาว (ธาริน เจริญสงเคราะห์)
· โรงเรียนจินดาบำรุง
· โรงเรียนประชานิเวศน์ (ฝ่ายประถมศึกษา)
· โรงเรียนคชเผือกอนุสรณ์
· โรงเรียนวัดขุมทองโรงเรียนวัดขุมทอง
· โรงเรียนพลมานีย์
· โรงเรียนวัดใต้ (ราษฎรนิรมิตร)
· โรงเรียนวัดบึงบัว
· โรงเรียนลำพะอง (ราษฏร์จำเริญบำรุง)
· โรงเรียนวัดภาษี
· โรงเรียนวัดสัมพันธวงศ์
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า ทั้งนี้จากผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครดังกล่าว อาจสะท้อนมาจากนโยบายการศึกษาของกรุงเทพมหานคร 4 ปัจจัยได้แก่ 1. การพัฒนาโรงเรียน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างหลากหลายให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองอย่างสูงสุด ตามกำลังหรือศักยภาพของแต่ละคน 2. โรงเรียน ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีบทบาทหลักในการสนับสนุน ส่งเสริม ดำเนินการเพื่อพัฒนานักเรียนทุกคนที่ได้เข้าเรียน และจบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และคุณภาพสูงตามเกณฑ์ เป้าหมาย และมาตรฐานของหลักสูตรที่ได้กำหนดไว้ 3. มีส่งเสริมให้สถานศึกษาพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้รวดเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลการเรียนรู้ 4.มีการขยายห้องเรียน 2 ภาษา พัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ความสำเร็จของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ยังมาจากการตื่นตัวและผู้บริหารให้ความสำคัญในการประเมินคุณภาพ ด้วยการใช้ระบบประกันคุณภาพภายในเป็นกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนสถานศึกษา ซึ่งล่าสุด ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้จัดประชุมผู้บริหารสถานศึกษาร่วมค้นหาแนวทางการพัฒนาในอนาคต ในรูปแบบการประเมิน “SMART School” โดยการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามเป็นตัวตั้งต้น เพื่อให้เกิดผลตรงตามข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาสถานศึกษา และเป็นการเตรียมพร้อมสู่การประเมินรอบที่ 4 ในปี พ.ศ.2559 – 2563 ที่จะถึงนี้
ที่ผ่านมาพบว่าโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร จะมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเพิ่มจำนวนของประชากรในกรุงเทพฯ โดยพบว่าในปีการศึกษา 2558 ที่จะเปิดภาคเรียนในเดือน พ.ค.นี้ มีจำนวนเด็กที่มีความประสงค์เข้าโรงเรียนสังกัด กทม. เพิ่มขึ้น โดยมีโรงเรียนขอขยายการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2 โรงเรียน และมีโรงเรียนที่ขอขยายห้องเรียนระดับอนุบาล 21 โรงเรียน แบ่งเป็น โรงเรียนที่ขอขยายชั้นอนุบาล 1–2 จำนวน 14 โรงเรียน และโรงเรียนที่ขอขยายชั้นอนุบาล 1 จำนวน 7 โรงเรียน สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวของประชากรในกรุงเทพฯ ที่พบว่ามีเด็กอายุ 0-14 ปี จำนวน 213,373 คน มีอัตราการเกิดของเด็กใน กรุงเทพฯ ปีละ 101,112 คน ประชากรแฝงกว่า 3,000,000 คน และมีแรงงานต่างด้าวอีกกว่า 1,000,000 คน ดังนั้น โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป ด้วยการกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินการตามระบบการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นระบบและเมื่อโรงเรียนเข้าสู่มาตรฐานแล้วควรมีกลไกรักษาความมีคุณภาพตามมาตรฐาน การประเมินคุณภาพภายนอกของโรงเรียนในสังกัดไว้อย่างต่อเนื่อง ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
นางจิราพร ปทุมเทวาภิบาล ผู้อำนวยการโรงเรียนประชานิเวศน์ กล่าวว่า ความสำเร็จของโรงเรียนประชานิเวศน์ที่ได้รับการประเมินดีมาก 3 ครั้งจาก สมศ. นั้นเกิดจากคณาจารย์และบุคลากรในโรงเรียนให้ความสำคัญกับการประเมินคุณภาพการศึกษา เพราะครูถือว่าการประกันคุณภาพเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา โดยโรงเรียนสร้างความตระหนักให้คุณครูมีความรู้สึกตื่นตัว พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับกับการประเมินอยู่ตลอดเวลา ในจุดที่ดีอยู่แล้วต้องรักษามาตรฐานและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ส่วนจุดที่ต้องพัฒนาโรงเรียนได้นำข้อผลประเมินและข้อเสนอแนะมาวางแผนการพัฒนา โดยบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การบริหาร และทิศทางการขับเคลื่อนของโรงเรียนในแต่ละปี ครูทุกคนจะต้องวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพของตนเอง เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนอันเป็นประโยชน์สูงสุดให้กับนักเรียน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่ว่า “วิชาการเด่น มีคุณธรรมนำตน ทุกคนร่วมพัฒนา สู่ความเป็นพลเมืองโลก” อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ กิจกรรมแลกเปลี่ยนครู-นักเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 20 คน กับโรงเรียนมินามิ คันนอน (Minami-Kannon Elementary School) เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพการเรียนรู้ของโรงเรียนให้เทียบเท่านานาชาติ และมีกิจกรรมส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลสอบโอเน็ตของโรงเรียนประชานิเวศน์ ปีการศึกษา 2557 ได้คะแนนเต็ม 100 ในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ รวม 6 คน อีกทั้งคะแนนโอเน็ตของทางโรงเรียนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศและต้นสังกัดในทุกกลุ่มสาระ
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th