กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมประจำปีคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 18 หรือ CSTD (Commission on Science and Technology for Development) ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300คน ประกอบด้วยผู้แทนจาก 43 ประเทศ รวมทั้งผู้แทนจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ โดยประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CSTD เป็นครั้งแรกในปี 2558 และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้รับเชิญให้กล่าวบรรยายพิเศษต่อที่ประชุม CSTD ถึงความสำเร็จและความท้าทายในการขับเคลื่อนนโยบาย และการปฏิรูปประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมหรือ วทน. รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นต่อรายงานการศึกษาวิเคราะห์นโยบาย วทน. ของประเทศไทย ซึ่งการศึกษาดังกล่าว เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง UNCTAD และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน.
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า การศึกษาวิเคราะห์นโยบาย วทน.ของประเทศไทยUNCTAD ได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบนวัตกรรมไทยใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การปฏิรูประบบบริหารจัดการและการกำกับดูแลระบบ วทน. 2. การกระตุ้นและพัฒนามาตรการจูงใจให้ภาคส่วนต่างๆ ลงทุนวิจัยและพัฒนา วทน. เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และ 3. การปรับปรุงระบบการศึกษาและการพัฒนาบุคลากร ให้มีความเชื่อมโยงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และรองรับความต้องการบุคลากรฐานความรู้ โดยในที่ประชุมใหญ่ ผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่างๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ เยอรมนี สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และออสเตรีย ต่างมีความพึงพอใจต่อรายงานดังกล่าว มีความสนใจหลายมาตรการที่รัฐบาลไทยกำลังขับเคลื่อน และชื่นชมต่อความก้าวหน้าในการผลักดันนโยบายด้านนวัตกรรมที่ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ไทยนำเสนอและแลกเปลี่ยนกับที่ประชุมเป็นเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมประชุมโต๊ะกลม ระดับรัฐมนตรี โดยได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) และความท้าทายของประเทศไทยในการสร้างความยั่งยืนของการพัฒนาให้สังคมมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ อันเป็นหลักการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
ดร.พิเชฐ ยังได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ วทน. ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยกตัวอย่างใน 3 ด้านหลัก โดยด้านแรกเน้นการประยุกต์ใช้ วทน. เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านที่สอง คือการพัฒนาทุนมนุษย์ด้าน วทน. โดยหยิบยกความริเริ่มในการยกระดับการศึกษาและพัฒนากำลังคนสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ STEM Education and STEM Workforce ด้านที่สาม คือ การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยได้ริเริ่มดำเนินการไว้ใน 2 เรื่อง คือ การทูตวิทยาศาสตร์ หรือ Science Diplomacyและการคาดการณ์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงานอย่างสมดุลของอาเซียน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ทั้งหมดนี้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายวาระสหประชาชาติในรอบหลังปี ค.ศ. 2015
นอกจากนี้ ยังได้เข้าพบและแลกเปลี่ยนกับเลขาธิการ UNCTAD นายมุคิซา คิตูยิ (Mukhisa Kituyi) โดยได้กล่าวขอบคุณ UNCTAD ที่ได้ช่วยนำประสบการณ์จากการจัดทำ Science Technology Innovation Policy Reviewมาทำการศึกษาทบทวนนโยบาย วทน. ของประเทศไทยจนสำเร็จ ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทย ในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจและพัฒนาสังคม ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกับความสำคัญของการนำเอาผลการวิเคราะห์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง โดย รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ของไทยได้ให้การยืนยันถึงบทบาทของไทยในเวทีสากล และยินดีร่วมมือกับสหประชาชาติในการขยายผลการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในเบื้องต้นนี้ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันจัดเวทีให้ผู้บริหารระดับสูงด้าน วทน.ของอาเซียนได้มาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเทศไทย
“การเดินทางเข้าร่วมการประชุมประจำปีคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการชื่นชมในความพยายามและผลการพัฒนาด้าน วทน.จากที่ประชุม และประสบความสำเร็จในการสร้างความยอมรับจากมิตรประเทศเป็นอย่างดียิ่ง” ดร.พิเชฐ กล่าว