กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--สมาคมประกันชีวิตไทย
ในไตรมาสแรก ปี 2558 (มกราคม-มีนาคม) ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งสิ้น 133,739 ล้านบาท โดยอัตราการเติบโตลดลงจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.06 แบ่งเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ จำนวน 39,556 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 21.86 และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อ จำนวน 94,183 ล้านบาท มีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์อยู่ที่ร้อยละ 84 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 11.39 ทั้งนี้ การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิตยังคงครองอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 46.61 ของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งหมด รองลงมาเป็นการขายผ่านช่องทางธนาคาร ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 45.83 ของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งหมด
นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สมาคมพิจารณาข้อมูลสถิติของธุรกิจประกันชีวิต แยกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือ ขนาดของบริษัท ซึ่งพิจารณาจากการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตรับรวม หมายถึงเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ (New Business Premium) รวมกับเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไป (Renewal Premium) โดยจะต้องพิจารณาถึงอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตด้วย และส่วนที่สองคือ การขยายงานของบริษัท ซึ่งพิจารณาจากการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่เพียงอย่างเดียว หมายถึง เบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก (First Year Premium) รวมกับเบี้ยประกันชีวิตรับจ่ายครั้งเดียว (Single Premium)
สถิติเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 3 เดือนแรกของปี 2558 ที่สมาคมประกันชีวิตไทยรวบรวมได้ในขณะนี้ มีดังนี้
1. เบี้ยประกันชีวิตรับรวม ตั้งแต่มกราคม-มีนาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 133,739 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลงจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.06 โดยบริษัทประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมสูงสุด หรือมีขนาดใหญ่สูงสุด 7 อันดับแรก ได้แก่
อันดับที่ 1 บจ.เอ.ไอ.เอ. มีจำนวน 27,566.92 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 20.61
อันดับที่ 2 บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต มีจำนวน 23,713.25 ล้านบาท คิดสัดส่วนการตลาดร้อยละ 17.73
อันดับที่ 3 บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต มีจำนวน 16,021.61 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 11.98
อันดับที่ 4 บมจ.ไทยประกันชีวิต มีจำนวน 15,194.70 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 11.36
อันดับที่ 5 บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต มีจำนวน 13,885.09 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 10.38
อันดับที่ 6 บมจ.กรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต มีจำนวน 13,091.46 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 9.79
อันดับที่ 7 บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต มีจำนวน 6,806.22 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 5.09
สัดส่วนการตลาดของบริษัท 7 อันดับแรก คิดเป็นร้อยละ 86.94 และอีก 17 บริษัทที่เหลือ มีสัดส่วนการตลาด คิดเป็น ร้อยละ 13.06
2. เบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ ตั้งแต่มกราคม-มีนาคม 2558 พิจารณาจากจำนวนเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรกรวมกับเบี้ยประกันชีวิตรับจ่ายครั้งเดียว รวมทั้งสิ้น 39,556 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลงจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.86 บริษัทประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่สูงสุด หรือมีการขยายงานสูงสุด 7 อันดับแรก คือ
อันดับที่ 1 บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต จำนวน 10,467.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 26.46
อันดับที่ 2 บจ.เอ.ไอ.เอ. จำนวน 6,260.0 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 15.83
อันดับที่ 3 บมจ.กรุงไทย แอกซ่า ประกันชีวิต จำนวน 4,646.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 11.75
อันดับที่ 4 บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำนวน 4,372.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 11.05
อันดับที่ 5 บมจ.ไทยประกันชีวิต จำนวน 3,588.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 9.07
อันดับที่ 6 บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต จำนวน 2,108.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 5.33
อันดับที่ 7 บมจ.พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำนวน 1,899.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 4.80
นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิต ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2558 ลดลงร้อยละ 1.0621 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยเบี้ยประกันชีวิตที่ขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต รวมทั้งสิ้น 62,330.2 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 4. การขายผ่านช่องทางธนาคารมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งสิ้น 61,294.6 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 7.10 การขายผ่านช่องทางอื่นๆ มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งสิ้น 6,048.8 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 10.10 และการขายผ่านช่องทางโทรศัพท์มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งสิ้น 4,065.3 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 4.56
ปัจจัยหลักที่ทำให้เบี้ยประกันชีวิตรับรวมมีอัตราการเติบโตที่ลดลง นั้นมาจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก โดยปัจจัยภายนอกประกอบด้วยภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวลง การมีอัตราค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง ขณะเดียวกันยังมีผลต่อการชะลอตัวลงของการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ จึงส่งผลต่อการชะลอตัวของเบี้ยประกันชีวิตกลุ่มแบบจ่ายเบี้ยครั้งเดียว (MRTA) ส่วนปัจจัยภายในประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบายของแต่ละบริษัทในการบริหารจัดการแบบประกัน เพื่อสร้างความมั่นคงและมีเสถียรภาพของบริษัท จึงมีผลทำให้เบี้ยประกันบางประเภทมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม ช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตยังคงมีสัดส่วนสูงที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 46.61 ของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งหมด รองลงมาเป็นการขายผ่านช่องทางธนาคาร แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตลดลง แต่ยังคงสัดส่วนถึงร้อยละ 45.83 อันดับสามเป็นการขายผ่านช่องทางอื่นๆ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 4.52 และอันดับสุดท้ายเป็นการขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 3.04
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายข้อมูลเพื่อการพัฒนาธุรกิจ สมาคมประกันชีวิตไทย โทรศัพท์ 0-2679-8080 ต่อ 532 หรือ Download ข้อมูลสถิติได้จาก http://www.tlaa.org/2012/statistics.php