กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--NBTC Rights
ผศ.ดร ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช ด้าน เศรษฐศาสตร์) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน กสทช มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.... เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น ร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำกับอัตราค่าบริการ ที่ผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บจากผู้รับบริการ ทั้งผู้ประกอบการเองและผู้บริโภค ได้แก่ ค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าบริการ ค่าตอบแทน หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ให้บริการแก่ผู้รับบริการจากการให้บริการโดยตรง โดยการกำกับดูแลจะเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การกำกับดูแลอัตราค่าบริการแบบเฝ้าระวัง และการกำกับดูแลค่าบริการแบบเข้มงวด
ผศ.ดร ธวัชชัยฯ กล่าวว่า การกำกับดูแลอัตราค่าบริการแบบเฝ้าระวัง เป็นการกำกับอัตราค่าบริการต่อผู้รับใบอนุญาตที่อยู่ในตลาดไม่มีการแข่งขันที่กลไกลตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือในตลาดที่ผู้รับใบอนุญาตมีแนวโน้มหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด (Significant Market Power: SMP) ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตรายนั้น ต้องรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องพร้อมกับอัตราค่าบริการต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการหรือเงื่อนไขการให้บริการจะต้องรายงานให้ทราบทุกครั้ง เพื่อป้องกันมิให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือผู้รับใบอนุญาตที่อยู่ในตลาดที่ไม่มีการแข่งขันแสวงหากำไรเกินควร หรือมีพฤติกรรมในลักษณะกีดกันทางการค้า รวมทั้งกำหนดอัตราค่าบริการไม่สอดคล้องกับต้นทุนการให้บริการ หรือเอาเปรียบผู้ใช้บริการ
อย่างไรก็ดี ในส่วนของการกำกับดูแลค่าบริการแบบเข้มงวด ผศ.ดร ธวัชชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นการกำกับอัตราค่าบริการต่อผู้รับใบอนุญาตที่มีพฤติกรรมแสวงหากำไรเกินควร มีการกำหนดอัตราค่าบริการไม่สอดคล้องกับต้นทุนการให้บริการ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว กสท. จะได้มาจากการร้องเรียนของผู้ใช้บริการทั้งจากประชาชนผู้ใช้บริการหรือผู้รับใบอนุญาตด้วยกัน หรือจากการวิเคราะห์ของสำนักงาน กสทช. หากคณะกรรมการตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกระทำดังกล่าว ทางคณะกรรมการ จะกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ถูกตรวจสอบอัตราค่าบริการจัดส่งข้อมูล ที่สอดคล้องกับวิธีการตรวจสอบอัตราค่าบริการ เช่น จำนวนผู้ใช้บริการ อัตราค่าบริการ วิธีการคำนวณอัตราค่าบริการ ข้อมูลต้นทุนการให้บริการ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้รับใบอนุญาตที่ต้องถูกตรวจสอบอัตราค่าบริการมีระยะเวลาในการจัดเตรียมข้อมูลจำนวน 60 วัน เพื่อให้สำนักงาน วิเคราะห์ และนำเสนอต่อ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ต่อไป
“ประกาศฉบับนี้ เป็นการกำกับดูแลที่แทรกแซงเฉพาะตลาดที่มีการแข่งขันน้อย หรือผูกขาดโดยธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายที่จะควบคุมอัตราค่าบริการ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และป้องกันไม่ให้ผู้เล่นรายใหญ่แสวงหากำไรเกินควร โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลต่อทั้งผู้รับใบอนุญาตด้วยกัน เช่น ผู้ให้บริการโครงข่ายกับช่องTV และ ระหว่างผู้ประกอบการกับประชาชน เช่น Cable TV กับ ผู้ใช้บริการรายเดือน ซึ่งประกาศนี้จะดูแลเฉพาะโครงสร้างอัตราค่าบริการเท่านั้น โดยผู้ประกอบการสามารถชี้แจงที่มาที่ไปของอัตราค่าบริการที่สะท้อนต้นทุนได้ โดยทางคณะอนุกรรมการส่งเสริมและกำกับดูแลการแข่งขันจะมีหน้าที่พิจารณาผู้มีอำนาจเหนือตลาดต่อไป ซึ่งผู้ที่ไม่ได้มาร่วมประชุมแต่มีความเห็นสามารถส่งมาได้ที่ สำนักงาน กสทช. ภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2558 โดยความเห็นจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะดังกล่าว จะถูกนำเสนอให้ที่ประชุม กสท และ กสทช ต่อไป” ผศ.ดร. ธวัชชัยฯ กล่าว