กรุงเทพ--6 ก.ค.--เบอร์สัน มาร์สเตลเลอร์
วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคยุโรป ทดลองทำรายการด้วยเงินสกุลยุโรเป็นครั้งแรก โดยใช้บัตรทดสอบที่ใช้สกุลเงินยูโร ซึ่งออกโดยบริษัทเบลเยี่ยม แบงค์ การ์ด (บีซีซี) ซื้อนาฬิกาข้อมือยี่ห้อยูโร มูลเงินเรือนละ 36.86 EUR จากร้านยูโรเทมโป้ในกรุงบรัสเซล
ฮันส์ แวน เดอร์ เวิลด์ ประธานวีซ่า ประจำสหภาพยุโรป กล่าวว่า “การสาธิตวิธีการทำรายการให้ธนาคารสมาชิก ผู้ถือบัตรวีซ่า และร้านค้าทั่วไปดูในวันนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า วีซ่ามีความพร้อมอย่างแท้จริงสำหรับการใช้เงินสกุลยูโร ผู้ถือบัตรสามารถเริ่มใช้จ่ายด้วยเงินยูโรได้ตั้งแต่ต้นปีหน้า ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการผลิตธนบัตรและเหรียญสกุลยูโรออกมาใช้จริงในอีก 3 ปีข้างหน้า ด้วยเหตุนี้วีซ่า คาดว่าการใช้จ่ายผ่านบัตรจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ และจะช่วยให้ชาวยุโรปรู้สึกคุ้นเคยกับเงินสกุลใหม่นี้”
การทดลองทำรายการในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นการทดลองครั้งแรกของโลก และเป็นครั้งแรกที่วีซ่าได้ทำการทดสอบแบบปลายทางสู่ปลายทาง (end-to-end test) จำลองสถานการณ์ในช่วงเวลาหลังปี 2542 โดยบัตรชำระเงินของวีซ่าจะถูกเชื่อมต่อเข้ากับระบบบัญชีในธนาคารที่ใช้เงินสกุลยูโร ขณะที่ เครื่องรับชำระด้วยบัตร ณ จุดขายจะทำการป้อนรายการราคาสินค้าในรูปสกุลเงินยูโร พร้อมกับ ปรากฎราคาในรูปสกุลเงินประจำประเทศนั้นๆ (ในกรณีทดสอบนี้ปรากฎเป็นสกุลเงินฟรังซ์ของเบลเยี่ยม) จากนั้นระบบของวีซ่าจะดำเนินการสั่งอนุมัติการใช้บัตร
“เราคาดว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ บรรดาธนาคารยุโรปจะเร่งปรับเปลี่ยนบัญชีของลูกค้ากันอย่างรวดเร็วจากบัญชีที่บันทึกด้วยสกุลเงินประจำชาติไปเป็นสกุลเงินยูโรแทน สำหรับธุรกิจบัตรชำระเงินแล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้เปิดโอกาสทางธุรกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกัน ในช่วงการผ่านไปสู่การใช้สกุลเงินยูโรซึ่งอาจสร้างความสับสนได้มากมายนี้ ผู้บริโภคจะรู้ซึ้งถึงประโยชน์ และสะดวกมากขึ้นในการชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์” มร. แวน เดอร์ เวิลด์
ดร. สตีเฟ่น เพอร์รี่ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน ของวีซ่า ประจำสหภาพยุโรป เป็นผู้ทำการทดลองทำรายการในครั้งนี้ ซึ่งท่านยังเป็นผู้รับผิดชอบในการเตรียมแผนการรองรับการใช้เงินสกุลเดียว ดร.เพอร์รี่กล่าวว่า “เราอาจจะมองเงินยูโรเป็นแค่เงินอีกสกุลหนึ่งเท่านั้น สำหรับวีซ่าแล้ว เรามีการปรับเปลี่ยนด้านเทคนิคเล็กน้อย แต่สำหรับธนาคารสมาชิกกว่า 4,500 แห่งของเราที่รับผิดชอบบัตร วีซ่าจำนวน 118 ล้านบัตร ตลอดจนร้านค้าต่าง ๆ ที่ยอมรับบัตรวีซ่าจำนวน 4 ล้านแห่ง จำนวนผู้ถือบัตรและการใช้จ่ายผ่านบัตรจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ วีซ่าจึงได้พัฒนาคิดค้นโซลูชั่นทางเทคนิดต่างๆ โดยใช้ระบบของเราเอง เพื่อเตรียมให้บริการแก่ลูกค้าล่วงหน้าก่อนที่เงินสกุลยูโรจะถูกนำมาใช้”
ทั้งนี้ บัตรที่นำมาทดลองใช้เป็นบัตรที่ออกโดยบริษัทบีซีซี ธนาคารซึ่งมีบทบาทสำคัญสำหรับวีซ่าในตลาดประเทศเบลเยี่ยม และเป็นธนาคารที่จัดการด้านเครือข่ายการรับบัตรวีซ่าในเบลเยี่ยม นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ออกบัตรชำระเงินร่วมกับกับธนาคารเบลเยี่ยมด้วย มร. เดิร์ค แบล็คคีเนียร์ รองผู้จัดการใหญ่ แห่งบีซีซี กล่าวว่า “การเปลี่ยนไปใช้เงินสกุลยูโรเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมบัตรชำระเงิน แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะเป็นการสร้างโอกาส ซึ่งตรงความมุ่งหมายของวีซ่า ในการให้โอกาสธนาคารต่างๆ มีจุดโดดเด่นของตัวเอง และมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งตลาดการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกแทนการใช้เงินสด” วีซ่าเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการทำรายการในครั้งนี้ ซึ่งจะได้จัดให้กับธนาคารสมาชิกของวีซ่าเพื่อให้เตรียมพร้อมสำหรับสหภาพการเงินยุโรป ( European Monetary Union : EMU) ระบบการทดสอบ VCMS (Visa Certification Management System) เป็นอุปกรณ์ทดสอบที่ถอดแบบมาจากระบบการผลิตของวีซ่า ซึ่งช่วยให้วีซ่าและสมาชิกสามารถจำลองสถานการณ์การชำระเงินด้วยระบบต่าง ๆ นอกจากสามารถใช้ทดลองสำหรับเงินสกุลเดียวได้แล้ว สมาชิกวีซ่ายังสามารถใช้เครื่องดังกล่าวทดสอบการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ปี 2000 และการทดสอบระบบของชิพการ์ดได้ด้วย
วีซ่าเป็นบัตรชำระเงินที่ได้รับความนิยม และเป็นระบบการชำระเงินสำหรับผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดบัตรสูงกว่ายอดรวมของบัตรชำระเงินอื่น ๆ และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาอำนวยประโยชน์แก่สมาชิกที่เป็นสถาบันการเงินจำนวน 21,000 แห่ง รวมทั้งหน่วยงานธุรกิจ ภาครัฐ รวมไปถึงการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของโลก วีซ่าเป็นผู้นำด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ บัตรวีซ่ากว่า 618 ล้านใบได้รับการยอมรับจากจุดรับบัตรจำนวนกว่า 15 ล้านแห่งทั่วโลก รวมถึงเครื่อง ATM กว่า 400,000 เครื่อง ผ่านเครือข่าย Visa Global ATM ในแต่ละปีมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรคิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ วีซ่ามีข้อมูลโฮมเพจในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต คือ http://www.visa.com
ข้อมูลเกี่ยวกับวีซ่าในยุโรป :
* มีการออกบัตรวีซ่าใหม่ทุก 2 วินาที - ในสิ้นปี พ.ศ. 2540 ปริมาณบัตรวีซ่าในยุโรปจะมีปริมาณสูงถึง 118 ล้านบัตรหรือเพิ่มขึ้น 15% จากปีที่แล้ว
* ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าคิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน — ในช่วงปี พ.ศ. 2540 ผู้ถือบัตรชาวยุโรปมีการใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 392,000 ล้านเหรียญ (หรือเท่ากับ 439,000 ล้านยูโร) หรือเพิ่มขึ้น 24% จากปีที่ผ่านมา
* ปริมาณการทำรายการด้วยบัตรวีซ่ามีสูงกว่า 100,000 รายการต่อนาที - ในช่วงปี พ.ศ. 2540 ผู้ถือบัตรวีซ่าชาวยุโรปมีการทำรายการต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 5,500 ล้านรายการ หรือเพิ่มขึ้น 20% จากปีที่แล้ว
* วีซ่าไม่ใช่บัตรเครดิต แต่เป็นระบบการชำระเงินผ่านบัตร สำหรับตลาดในยุโรป ธุรกิจหลักของวีซ่าคือธุรกิจบัตรเดบิต โดยมีสัดส่วนเท่ากับ 58% ของบัตรวีซ่าทั้งหมดในยุโรป ตามด้วยยอดบัตรเครดิต (40%) และบัตรสำหรับองค์กรธุรกิจ (2%)
* วีซ่าเป็นบัตรชำระเงินชั้นนำของยุโรป - การใช้บัตรวีซ่าของชาวยุโรปกว่า 60% ใช้สำหรับจับจ่ายซื้อสินค้า ณ จุดขาย (เปรียบเทียบกับการเบิกเงินสดล่วงหน้า) ซึ่งนับเป็นตัวเลขการใช้จ่ายที่ไม่มีระบบการชำระเงินใด ๆ มาเทียบเคียงได้เลย ภาพถ่ายการทดลองทำรายการเงินสกุลยูโรเป็นครั้งแรกที่กรุงบรัสเซลเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. สามารถชมได้ทางอินเตอร์เน็ตที่
* http://visa@imagenet.co.uk
* หรือติดต่อผ่านสายสัญญาณ ISDN โดยโทรไปที่ Eyecatchers Press หมายเลข 44 181 886 0101
ยูโรเทมโป้ : ร้านยูโรเทมโป้เป็นหนึ่งในร้านจำหน่ายสินค้าที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการของ European Commission ซึ่งมีฐานอยู่ที่เมืองบรัสเซล ขายสินค้าประเภทของที่ระลึกและสินค้าพิเศษอื่น ๆ เพื่อใช้ในการฉลองสหภาพยุโรปและสหภาพการเงินยุโรป (European Monetary Union) สินค้าเหล่านี้จะมีเครื่องหมายธงของสหภาพยุโรปและสัญลักษณ์ของเงินสกุลยูโรประทับอยู่
เฟล็กซี่คอม : เป็นผู้จัดระบบเครื่องและเป็นผู้จำหน่ายเครื่องรับชำระเงิน ณ จุดขาย เพื่อใช้ในการทำรายการ เฟล็กซี่คอมมีฐานอยู่ที่ประเทสไอร์แลนด์ และเป็นหนึ่งในผู้จำหน่ายระบบประมวลผลบัตร ที่มีซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นอันทันสมัยที่ได้รับการออกแบบขึ้นสำหรับใช้งานในองค์กรด้านการเงินและการพาณิชย์ต่าง ๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ พรทิพย์ เลิศเวชกุล เบอร์สัน มาร์สเตลเลอร์ โทร. 252-9871-77 อีเมลล์ : L_Porntip@bm.com-- จบ--