สถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ในการรับรู้ของสังคมไทย: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและ 4 จังหวัดหัวเมืองใหญ่

ข่าวทั่วไป Tuesday May 19, 2015 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง สถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ในการรับรู้ของสังคมไทย : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และ 4 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี ชลบุรี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,974 ตัวอย่าง โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกเขต /อำเภอ แขวง/ตำบล ชุมชน/ ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการในวันที่ 12-17 พฤษภาคม 2558 ผลการสำรวจพบว่า เมื่อสอบถามถึงความสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลและคสช.พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.4 ระบุติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ ร้อยละ 52.3 ระบุติดตามบ้าง ในขณะที่ร้อยละ 33.2 ระบุไม่ค่อยได้ติดตาม และร้อยละ 6.1 ระบุไม่ได้ติดตามเลย นอกจากนี้เมื่อสอบถามต่อไปถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 12.7 ระบุเข้าใจชัดเจนแล้ว ในขณะที่มากกว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 72.6 ระบุเข้าใจบ้าง และร้อยละ 14.7 ระบุยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์เลย สำหรับการรับรู้รับทราบในความเสียหายของประเทศชาติและประชาชนจากปัญหาการค้ามนุษย์นั้นพบว่า ร้อยละ 46.4 ระบุรับรู้รับทราบมาก่อนแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 37.6 ระบุเพิ่งทราบจากรัฐบาลและ คสช. ในขณะที่ ร้อยละ 16.0 ระบุไม่ทราบมาก่อน ประเด็นสำคัญคือเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงรูปแบบการค้ามนุษย์ที่เคยพบเห็นหรือรับรู้ว่ามีในพื้นที่จังหวัดของตนนั้น ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.4 ระบุเคยพบเห็นการนำคนมาเป็นขอทาน รองลงมาคือร้อยละ 47.9 ระบุการค้าประเวณี ร้อยละ 40.0 ระบุการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบต่างๆ ร้อยละ 36.8 ระบุการบังคับใช้แรงงาน/บริการ ร้อยละ 34.8 ระบุการผลิต/เผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก ร้อยละ 27.7 ระบุการข่มขู่/ขูดรีด/บีบบังคับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ของตน และร้อยละ 6.6 ระบุการบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงระดับความรุนแรงของสถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ในพื้นที่จังหวัดตามความคิดเห็นของตัวอย่างนั้นพบว่า ร้อยละ 13.0 ระบุสถานการณ์อยู่ในระดับรุนแรงมาก-มากที่สุด ร้อยละ 32.9 ค่อนข้างรุนแรง ร้อยละ 34.2 ระบุไม่ค่อยรุนแรง ในขณะที่ร้อยละ 19.9 ระบุน้อย-ไม่มีปัญหาเลย สำหรับการรับรู้ของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในพื้นที่จังหวัดของตนนั้น ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 46.0 ระบุเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร้อยละ 34.2 ระบุทหาร ร้อยละ 19.9 ระบุข้าราชการฝ่ายพลเรือนเช่น พัฒนาสังคม ฝ่ายแรงงาน ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ทั้งนี้ตัวอย่างร้อยละ 36.5 ระบุไม่เคยพบเห็น/ไม่เคยรับรู้ ตามลำดับ คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ตัวอย่างร้อยละ 46.0 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 54.0 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 28.1 ระบุมีอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 30.5 ระบุอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 24.1 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 17.3 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 32.9 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 38.8 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 4.1 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 22.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 1.4 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี และเมื่อพิจารณารายได้ส่วนตัวต่อเดือนพบว่า ร้อยละ 38.2 ระบุมีรายได้ส่วนตัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 32.2 ระบุมีรายได้ 10,000–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 18.4 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ร้อยละ 11.2 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ
แท็ก community   APP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ