กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
เมื่อวานนี้ (13 พ.ค.58) สกย. นำโดยคณะผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง ร่วมกันทำความดีเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ กิจกรรม ORRAF CSR DAY รวมพลจิตอาสา พัฒนาชุมชน พร้อมกันทั่วประเทศ หวัง จัดกิจกรรมในวันหยุด สร้าง และปรับทัศนคติในการทำงานบริการที่คำนึงถึงสาธารณะ เพื่อพี่น้องเกษตรกร และประชาชน โดยได้ใช้โอกาสวันพืชมงคล ซึ่งเป็นวันหยุดและเป็นวันสำคัญของเกษตรกร ปล่อยขบวนทำความดีในครั้งนี้
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท กรรมการสงเคราะห์การทำสวนยางในฐานะประธานกรรมการดำเนินงานด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของ สกย. กล่าวว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร เป็นหนึ่งในภารกิจอันสำคัญที่ สกย.ตระหนักและให้ความสำคัญในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นว่า องค์กรจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ต้องอาศัยทั้งวิสัยทัศน์ ความสามารถ ควบคู่กับการมีคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินงาน เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับวงการยางพาราทั้งระบบ ตลอดรวมถึงสังคมและชุมชนใกล้เคียง สำหรับในปี 2558 นี้ สกย.ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมุ่งเน้นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม 5 ประการ ประกอบด้วย สกย.ในฐานะองค์กรดูแลและส่งเสริมเรื่องยางพารามายาวนานกว่า 50 ปี จะนำประสบการณ์ด้านนี้ไปทำประโยชน์ให้กับสังคม โดยมุ่งเน้นกิจกรรมแบบบูรณาการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันเกษตรกร ตลอดจนชุมชนแวดล้อม มุ่งจัดกิจกรรมลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เสริมสร้างสุขอนามัย ลดปัญหายาเสพติด และลดภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล สกย.จึงจัดกิจกรรมกับชุมชนในเชิงลึกและกว้าง เพื่อสร้างเครือข่ายประชาคม และประการสุดท้ายที่สำคัญ คือ มุ่งเสริมสร้างจิตสำนึกให้ ชาว สกย.ทุกท่าน ตลอดจนพี่น้องชาวสวนยาง ได้ร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือ เสียสละและดูแลสังคม โดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทน
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแนวทางการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งหมดนี้ เป็นที่มาของโครงการสร้างสำนึกคุณค่า CSR สกย. กิจกรรม ORRAF CSR DAY เป็นการรวมจิตอาสา พัฒนาพื้นที่ในชุมชนของ สกย.ทั่วประเทศ อาทิ การปลูกป่าปลูกต้นไม้ การบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ การทำความสะอาดแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่สำคัญๆ ของชุมชน เช่น วัด โรงเรียน ชายหาด เป็นต้น ดังเช่น ในพื้นที่ กรุงเทพฯ สกย. ได้ใช้โอกาสวันพืชมงคล ซึ่งเป็นวันหยุดและเป็นวันสำคัญของเกษตรกร เชิญชวนชาวชุมชนบางขุนนนท์ ร่วมกันทำกิจกรรมบูรณะวัดเจ้าอาม ทั้งการทาสีรอบรั้วกำแพงวัด ความยาว 155 เมตร ทั้งภายนอกและภายใน รวมทั้งสิ้น 310 เมตร กิจกรรมทำความสะอาดบริเวณภายในวัด และที่สำคัญ คือ กิจกรรมการปูพื้นยาง บริเวณศาลา 3 รวมทั้งสิ้น 150 ตารางเมตร เป็นการนำผลิตภัณท์ยางพาราแปรรูปมาใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่า โดยเฉพาะเป็นการนำแผ่นยางธรรมชาติมาบริการ อำนวยความสะดวกในที่สาธารณะของชุมชนด้วย