กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--หอการค้าไทย
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2558 ยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนที่ถูกกระทบจากราคาพืชผลและรายได้เกษตรกรลดลง ประกอบกับภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง จากความกังวลถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต การลงทุนภาคเอกชนลดลง
อีกทั้ง การส่งออกที่เป็นรายได้สำคัญของประเทศลดลง เกือบทุกหมวดสินค้าและเกือบทุกตลาด ยกเว้นการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน CLMV สาเหตุจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่กระทบความต้องการสินค้าในหลายประเทศแต่เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1 ดีกว่าไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน
จากการประชุมของหอการค้าไทย ซึ่งมีผู้แทนจากการหอการค้าทุกภาคเข้าร่วมประชุม ได้เห็นสอดคล้องตรงกันว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันน่าจะมาถึงจุดต่ำสุดแล้ว และนับจากนี้มีสัญญาณจะปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นโดยมีสัญญาณบ่งชี้สำคัญต่างๆ จากผู้ประกอบการ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทที่มีศักยภาพจะเริ่มลงทุน ซึ่งจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง
“เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพื้นฐานของเศรษฐกิจ พบว่าอัตราว่างงานยังต่ำ แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบ แต่เป็นการต่ำลงจากราคาพลังงานและสินค้าในหมวดอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ยังอยู่ในกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถดูแลได้ เศรษฐกิจไทยจึงยังไม่ได้เผชิญกับปัญหาภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด”นายอิสระกล่าว
นายอิสระ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจกำลังเริ่มกลับมาฟื้นตัว เมื่อปัญหาต่างๆ ผ่อนคลาย ภาคการท่องเที่ยว ได้กลับมาขยายตัวดีต่อเนื่อง ไตรมาสที่ 1 มีนักท่องเที่ยวจำนวน 7.88 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนและมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นมาก อัตราการเข้าพักโรงแรมสูงขึ้นในอัตราเฉลี่ย 75-80% โดยเฉพาะพื้นทีท่องเที่ยวฝั่งอันดามันที่ผู้ประกอบการระบุว่า ช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีช่วง Low Season เลย นอกจากนั้น การท่องเที่ยวในภาคเหนือมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 15% ในขณะที่รายได้เพิ่มขึ้น 18% และการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น
สำหรับการลงทุน มีเม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ที่อนุมัติผ่านรง.2 และ รง.4รวม 1.55 หมื่นล้านบาท และเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 55.4% คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากงบลงทุนภาครัฐที่ลงไปยังพื้นที่มากขึ้น ในส่วนของการลงทุนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เริ่มมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้านการส่งออก ปริมาณการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออกสินค้า เริ่มมีปริมาณมากขึ้น โดยท่าเรือกรุงเทพ เพิ่มขึ้น 6.07 % ท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มขึ้น 7.53 % การส่งออกไปสหรัฐอเมริกายังมีการขยายตัว รวมทั้งตลาด CLMV ก็ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง การค้าชายแดนในไตรมาสที่ 1 เฉพาะที่ด่านแม่สอด มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 18-19% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง และนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเริ่มเห็นผลซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ สู่ระบบเศรษฐกิจไปแล้ว 1.4 ล้านล้านบาท จะทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนเกิดความเชื่อมั่น มีการใช้จ่ายบริโภคและลงทุนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจไทยก็จะเติบโตได้มากขึ้น
นายอิสระ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศให้ทันกับโลกในยุคปัจจุบัน ซึ่งธุรกิจ ICTเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีมูลค่าสำคัญของประเทศไทย โดยจากการสำรวจผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจ ICT พบว่ามีมูลค่ารวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ของ GDP (ไม่รวมอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์)
หอการค้าไทย ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบไทยให้ก้าวสู่การเป็น Digital Economyจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มงาน Creative Digital Economy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และประเทศไทย
นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานคณะกรรมการ Creative Digital Economy สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึง แนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการ Creative Digital Economy ประกอบด้วย
1 คณะกรรมการ Creative Digital Economy เน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(Digital Economy) ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทยในทุกภูมิภาค รวมถึงผลักดันนโยบายเศรษฐดิจิทัล ร่วมกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด ด้วยการนำของภาคเอกชน และการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศบรรลุวัตถุประสงค์สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
2 สนับสนุนการเข้าถึงและการใช้เทคโนโลยีให้กับ SMEs เพื่อการเข้าถึงตลาด (Market Access) กระบวนการทางธุรกิจ (Business Process) รวมถึงการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อช่วยให้ SMEs เกิดการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้าและความสามารถในการแข่งขันทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะในตลาด B2C
3 การส่งเสริมเข้าถึงตลาด (Market Access) ด้วยการใช้เทคโนโลยี E-Commerce จะทำให้ SMEsก้าวข้ามข้อจำกัดด้านทรัพยากร ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ เห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีซึ่ง Digital Economy จะเป็นสิ่งที่ช่วยทลายกำแพงของการแข่งขันทางการค้าในแบบเดิม ไปสู่การแข่งขันในยุคใหม่ เราตั้งเป้าที่จะต้องทำงานร่วมกับภาครัฐที่จะช่วยให้เกิดมีผู้ประกอบการ E-Commerce เพิ่มขึ้นอีก 30,000 ราย และมีอัตราการเติบโตของธุรกิจนี้จากส่วนภูมิภาคเพิ่มไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
4 การเชื่อมโยงระบบ National Single Window (NSW) กับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทางธุรกิจ (Business Process) ให้กับสมาชิกผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการบริหารงานให้กับธุรกิจได้อีกด้วย
5 เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการมาพบกัน (Business Matching) ด้วยการสร้างเครือข่าย (Network) ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของประเทศ รวมทั้งผลักดันให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุน “ส่งเสริมโครงการสร้างสรรค์” ภายในปี 2559
6 ส่งเสริมการต่อยอดด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาธุรกิจและสินค้าตลอดจนการบริการให้มีคุณภาพระดับสากลและพัฒนาความสามารถของธุรกิจไทยในแนวทางธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น
ข้อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล
1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบายการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการนำเทคโนโลยีไปให้บริการการเรียนรู้แก่คนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมหรือด้อยโอกาสทางการศึกษา (โครงการการศึกษาทางไกล) ซึ่งจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯมีความยินดีอย่างยิ่งในการสนับสนุนรัฐบาล เพื่อการส่งเสริมนโยบายดังกล่าว
2. สนับสนุนนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทุกครัวเรือน ตามแผนการดำเนินงานของรัฐบบาล
3. เพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล หอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ จะส่งเสริมการสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับสมาชิกผู้ประกอบการ ให้เห็นถึงความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อการส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆของภาคเอกชนและภาครัฐ ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาสังคมอีกด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลส่วนใหญ่มักเกิดจากการผลักดันของภาคเอกชน โดยภาครัฐมักจะทำหน้าที่ตั้งระเบียบ กฎเกณฑ์ และส่งเสริมให้เอกชนสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนไปสู่การพัฒนาในที่สุด