กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--โฟร์ พี.แอดส์ (96)
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อมูลข่าวสาร ข่าวลือ และคำทำนายต่างๆ เกี่ยวกับเหตุภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย แพร่สะพัดผ่านสื่อต่างๆ ทั้งทางเว็บไซต์ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ตลอดจน บางข้อมูลอาจขาดการกลั่นกรองข้อเท็จจริง จึงยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ประชาชนเกิดความเครียดและวิตกกังวลมากยิ่งขึ้นไปอีก ปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นจากความเครียดและวิตกกังวลเกินเหตุ เช่น นอน ไม่หลับ ปวดมึนศีรษะ ปั่นป่วนมวนท้อง คลื่นไส้ โดยผู้ที่ต้องระมัดระวัง คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง จะทำให้เกิดภาวะหัวใจทำงานหนัก เสี่ยงหัวใจวาย ความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงต่อเส้นเลือดแตก กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากขึ้น เสี่ยงเกิดโรคกระเพาะอาหาร รวมทั้ง ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด อาจทำให้เกิดการเกร็งของทางเดินหายใจ หายใจ ไม่ออก อาการแย่ลงได้
เพื่อลดความวิตกกังวลจากข่าวลือหรือคำทำนายต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลานี้ ขอแนะให้ พึงตั้งสติและระมัดระวังในการติดตามและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ออกไป สำหรับผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจและระมัดระวังเป็นอย่างมากในการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร หรือคำทำนายต่างๆ เพื่อป้องกันความตื่นตระหนกของประชาชน ขณะที่ประชาชนผู้เสพข้อมูลข่าวสารควรใช้วิจารณญาณ เชื่อโดยมีพื้นฐานอยู่บนเหตุผล ข้อเท็จจริง ดูความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ และรับข่าวสารข้อมูลด้วยความระมัดระวัง มองสถานการณ์ให้รอบด้าน อย่าตื่นตระหนก แต่ให้ตื่นตัว โดย ต้องวิเคราะห์ให้ดี เพราะข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏนั้นย่อมมีทั้งข่าวจริง ข่าวลือ ข่าวปล่อย ค่อยๆ กลั่นกรอง อย่ารีบร้อน ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล มองโลกในแง่ลบมากขึ้น ควรเสพข้อมูลจากคนที่ไว้ใจได้ หรือตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง กระตือรือร้นในการหาความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติด้วยตนเอง เพราะหากมีข้อมูลหรือหาความรู้ด้วยตนเองก็จะไม่ตื่นกับข่าวลือ ข่าวลวง ขณะเดียวกันภาครัฐต้องให้ข้อเท็จจริง ทำความเข้าใจประชาชน รวมทั้งให้ความมั่นใจว่าจะจัดการกับเหตุการณ์ได้ จะช่วยลดความตื่นตระหนกจากข่าวลือ และข่าวลวงลงได้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว