กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--ส่วนสื่อสารองค์กร สสว.
สสว. เป็นประธานจัดประชุมคณะทำงานอาเซียนด้าน SMEs ครั้งที่ 36 มุ่งระดมความคิดจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนา SMEs ใน 10 ปีข้างหน้า (2016-2025) รวมถึงแนวทางการดำเนินกิจกรรมส่งเสริม SMEs อาเซียนร่วมกัน โดยมีหน่วยงานส่งเสริม SMEs ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศจาก 10 ประเทศอาเซียน รวมทั้งประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมประชุม หวังสร้างนวัตกรรม และพัฒนาขีดความสามารถ SMEs ให้แข่งขันได้ในระดับโลก
นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่ ประเทศไทย โดย สสว. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นประธานและจัดการประชุมคณะทำงานอาเซียนด้าน SMEs ครั้งที่ 36 หรือ The 36th ASEAN Small and Medium Enterprises Agencies Working Group (36TH ASEAN SMEWG) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคม 2558 นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดแนวทางการพัฒนา SME ของไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน
โดยการประชุมครั้งนี้ มีประเทศในอาเซียนเข้าร่วมทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน เวียดนาม สปป.ลาว พม่า และกัมพูชา รวมถึงกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ องค์การเพื่อความร่วม
มือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development-USAID) โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการหารือเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา SMEs อาเซียน ปี 2559-2568 “ASEAN Strategic Action Plan for SME Development (2016-2025) or Post 2015 SAP SMED” รวมถึงการให้ความร่วมมือและดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ ร่วมกัน
“การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการประชุมเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา SMEs อาเซียน ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2559-2568) ที่จะใช้ร่วมกัน โดยแบ่งออกเป็น 5 มิติ คือ 1.มิติด้านการส่งเสริมการผลิต การใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม 2.มิติด้านการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน 3.มิติด้านการสนับสนุนการเข้าสู่ตลาด และการเป็นสากล 4.มิติด้านนโยบายการส่งเสริม และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 5.มิติด้านการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยประเทศไทยจะเป็นประเทศหลัก (Country Champion) ในมิติที่ 1 และ 3 รวมถึงการเสนอความคืบหน้าในการจัดทำเว็บไซต์รวบรวมบริการสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในอาเซียน (ASEAN SME Service Center Website)”
ภายใต้การประชุมคณะทำงานอาเซียนด้าน SMEs ครั้งที่ 36 นอกจากจะมุ่งเน้นหารือเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา SMEs อาเซียน ปี 2559-2568 ยังมีการประชุมที่เกี่ยวเนื่องในหลายมิติ ได้แก่ การประชุมสภาที่ปรึกษา SME อาเซียน โดยเป็นการประชุมร่วมกับภาครัฐและเอกชนในอาเซียน เพื่อกำหนดนโยบายให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ภาคเอกชนของไทยจะได้เสนอแนวทางในการดำเนินกิจกรรมร่วมกับอาเซียน ใน 4 ประเด็น คือ 1.การจัดการห่วงโซ่อุปทาน 2.การส่งเสริมการค้าชายแดน 3.การจัดงาน ASEAN SME Expo และ 4.การสนับสนุนให้ไทยเป็น Digital Service Hub
การประชุมร่วมคณะทำงานอาเซียนด้าน SMEs กับ SME Agency of Japan ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการของคณะทำงานอาเซียนด้าน SMEs มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหารือแนวทางการดำเนินกิจกรรมส่งเสริม SMEs อาเซียน ร่วมกัน
การประชุมร่วมกับองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Regional Policy Network Workshop: OECD) ถึงแนวทางการสร้างเครือข่ายด้านนโยบายในระดับภูมิภาค โดย OECD เสนอที่จะร่วมมือกับอาเซียนในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา SMEs อาเซียน (ปี 2016-2025) พร้อมเสนอแนะแนวทางในการกำหนดนโยบายเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ในอาเซียน สามารถใช้ประโยชน์จากความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงแนวทางการจัดทำข้อมูล SMEs ในเชิงสถิติของอาเซียน
“สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs จะได้ประโยชน์จากการประชุมครั้งนี้ คือ สามารถนำแผนปฏิบัติการที่จะใช้ตลอดระยะเวลา 10 ปี (ปี 2559-2568) ในการสร้างนวัตกรรมที่ดีพอ และสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับโลก” นางสาววิมลกานต์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2557 ผู้ประกอบการ SMEs ไทย มีมูลค่าการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีมูลค่าการส่งออก คิดเป็นมูลค่า 1.92 ล้านล้านบาท โดยประเทศที่ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ส่งออกมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมาร์ อินโดนีเซีย และ สปป.ลาว โดยสินค้าส่งออกสำคัญไปภูมิภาคอาเซียน อาทิ พลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น