กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--ไอแอมพีอาร์
ในงานสำคัญๆ ของ อำเภอปัว จังหวัดน่าน ผู้คนในชุมชนจะมีความสุขไปกับกับการชมการแสดง “ลิเกพื้นบ้าน” ฝีมือการร้องรำของเด็กๆ จาก “โรงเรียนบ้านร้อง” ที่มีลีลาท่วงท่าการร่ายรำราวกับมืออาชีพ ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเป็นอันมาก
“คณะลิเกรุ่นเยาว์” ของ “โรงเรียนบ้านร้อง” ได้ให้ความบันเทิงกับผู้คนในอำเภอปัว มานานเกือบ 10 ปี ต่อมาในปี 2554 จึงได้นำเอาการแสดงลิเกพื้นบ้านมาผสมผสานกับ การสร้างทักษะการอ่านออกเขียนได้ ภายใต้ “โครงการสานสายใยรักการอ่านที่บ้านร้อง” ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมการอ่าน เพิ่มทักษะการพูด สร้างให้เด็กเรียนรู้และรักศิลปวัฒนธรรมไทย และยังเป็นการสืบสานต่อ “ลิเกเมืองน่าน” การแสดงพื้นบ้านที่กำลังจะหมดไป
นายสมนึก ตาลตา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านร้อง กล่าวว่า คณะลิเกรุ่นเยาว์เกิดขึ้นจากความคิดที่อยากจะสืบทอดลิเกเมืองน่าน เพราะเห็นว่าปัจจุบันเหลือเพียงคณะเดียว จึงได้นำเด็กมาฝึกการขับร้องและสืบสานการแสดงลิเกเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยปัจจุบันมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 85 คน ซึ่งผลจากการฝึก เด็กๆ ไม่เพียงแต่จะสามารถสืบทอดการแสดงพื้นบ้านของน่านได้เท่านั้น หากคณะลิเกพื้นบ้านที่คณะครูร่วมกันคิดว่าจะสร้างขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของโรงเรียนให้เป็นที่รู้จัก กลับส่งผลดีอย่างคาดไม่ถึงจากผลการเรียนของเด็กๆ ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“ครูจะเน้นให้เด็กๆ มีทักษะในการจับใจความ สามารถอ่านออกเสียงได้อย่างชัดเจน และนำไปฝึกร้องลิเกแบบธรรมดาโดยเน้นในเรื่องประชาสัมพันธ์โรงเรียนให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้น คือ เด็กที่เข้ามาอยู่ในโครงการลิเกจะมีผลการเรียนดีขึ้นมาก สามารถสอบเลื่อนขึ้นชั้นมัธยมศึกษาในห้องต้นๆได้ คณะครูจึงมาวิเคราะห์กันว่า การฝึกเล่นลิเก เล่นละคร และเล่นดนตรีไทย มีส่วนช่วยทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านสมองมากขึ้น” ผอ.สมนึก ระบุ
จากผลดีที่เกิดขึ้น คณะครูของโรงเรียนบ้านร้องจึงมีความคิดที่จะขยายผลกิจกรรมลิเกรุ่นเยาว์จากเพียงแค่การประชาสัมพันธ์โรงเรียนไปสู่การให้ความรู้ด้านสุขภาวะในหมู่นักเรียนและกระจายไปสู่ชุมชนรายรอบโดยใช้ลิเกเป็นสื่อ จึงเกิดเป็น “โครงการสุขภาพดีที่บ้านร้อง (ลิเกสุขภาพ)” ขึ้นภายใต้ “โครงการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน” โดยมี สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน
นายสุวิทย์ สวนดอกไม้ ครูผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมมีปัญหาด้านสุขภาวะมาก จึงมีความคิดที่จะต่อยอดการดำเนินงานเดิมในโครงการสานสายใยรักการอ่านฯ โดยนำทักษะการอ่านเขียน การพูด และการแสดงลิเกของเด็กๆ ไปใช้เพื่อสื่อสารความรู้ด้านสุขภาวะต่างๆ ให้กับเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนโดยรอบ
“ช่วงปี 2556 พอเข้าร่วมโครงการ เราได้มีการปรับบทลิเกให้เน้นไปในเรื่องของการให้ความรู้ในด้านสุขภาวะด้านต่างๆ โดยเด็กๆ จะต้องฝึกทักษะในทุกด้าน ต้องผสมผสานทั้งการอ่าน และการแสดง เด็กๆ ต้องฝึกจับใจความ ฝึกอ่านกันเอง สอนกันเอง กำกับกันเองโดยมีครูเป็นผู้ช่วยดูแล ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราก็ได้เห็นการพัฒนาของเด็กอย่างรวดเร็ว เพราะเด็กจะไม่เพียงแต่เรียนดี ยังกล้าแสดงออก ร่างกายแข็งแรงเพราะได้ออกกำลังกายจากการร่ายรำ รวมทั้งเด็กและผู้ชมยังสามารถนำเอาสาระที่ได้จากบทลิเกไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้” ครูสุวิทย์ระบุ
สำหรับบทลิเกสุขภาวะที่ได้รับความนิยมเป็นบทละครที่คิดขึ้นมาใหม่คือเรื่อง “น้ำตาแม่” โดยจะสอดแทรกเรื่องของพิษภัยของสุรา ยาเสพติด การพนัน ที่ส่งผลต่อสุขภาพกาย-ใจ ที่อาจส่งผลทำให้ครอบครัวแตกแยกได้ โดยบทลิเกชุดนี้ยังได้ถูกนำไปแสดงตามงานสำคัญๆ ของอำเภอ และบางครั้งยังออกไปแสดงให้ผู้สูงวัยในโรงพยาบาลได้ชมลิเกอีกด้วย
“ครั้งหนึ่งมีคุณยายท่านหนึ่งป่วยหนักมากเข้าไปนอนโรงพยาบาล คุณยายชอบดูลิเกมากแต่ไม่มีที่ไหนแสดงและอยู่ในโรงพยาบาลด้วย แกอยากดูลิเกเด็กโรงเรียนบ้านร้องมาก ญาติๆ กลัวว่าแกจะเสียชีวิต จึงขอให้เราไปแสดงที่โรงพยาบาล คุณยายได้ดูก็มีกำลังใจ ทุกวันนี้ท่านก็ยังมีชีวิตอยู่ เป็นเรื่องที่ครูประทับใจมาก” ครูสุวิทย์เล่าความประทับใจ
นอกจากสร้างความบันเทิงพร้อมกับสอดแทรกสาระความรู้ด้านสุขภาวะแล้ว ลิเกสุขภาวะเด็กคณะบ้านร้อง ยังสามารถคว้าหลายรางวัลในระดับท้องถิ่น และยังได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศจาก “งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน” ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา เมื่อปี 2556 มาแล้ว
นางระบอบ สุทำแปง ผู้ปกครองของนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น ชั้นป.4 เล่าว่า “ตอนแรกไม่กล้าตัดสินใจให้ลูกชายเข้าโครงการ เพราะกลัวลูกจะโกหกว่ามาซ้อมแล้วแอบไปเล่น อีกอย่างคือลูกสมาธิสั้นกลัวจะฝึกไม่ได้ และกลัวว่าจะเสียการเรียน แต่พอลูกฝึกไปได้สักพัก ผลการเรียนก็ดีขึ้น คุณครูชมว่าเขามีสมาธิมากขึ้น ทางบ้านก็เห็นว่าเขามีพัฒนาการดีขึ้น ก็เลยสนับสนุนเต็มที่”
ด.ญ.ชนกนันท์ มหาศาล นักเรียนชั้น ป.4 เล่าว่า “เมื่อก่อนเวลาว่างก็เล่นกับเพื่อน แต่เดี๋ยวนี้ ใช้เวลาว่างฝึกออกเสียง ฝึกรำ ก่อนจะแสดงลิเกได้ คุณครูให้ท่องบท พอคล่องแล้วถึงจะได้เล่น เรื่องที่เล่นตอนนี้ก็คือ เรื่องน้ำตาแม่ ทำให้หนูได้ความรู้ และรู้ว่า การพนันเป็นสิ่งไม่ดี ทำให้คนอื่นเดือดร้อน หนูได้เอาไปบอกครอบครัวด้วย แม่ชอบให้หนูเรียนลิเก”
ด.ช.รัฐภูมิ มณีขัติย์ นักเรียนชั้น ป.5 ผู้รับบทเป็นพ่อเรื่อง “น้ำตาแม่” เล่าว่า “ปกติวันหยุดจะช่วยที่บ้านซักผ้ารีดผ้า แต่พอว่างก็จะมาฝึกเล่นและซ้อมลิเกในวันเสาร์ ได้ความรู้ที่จากการเล่นลิเกหลายเรื่อง ประทับใจเรื่องกินเหล้า ที่เอาไปบอกพ่อไม่ให้กินเหล้าด้วย”
โครงการนี้ลิเกรุ่นเยาว์ของโรงเรียนบ้านร้อง มีการวางแผนที่จะสืบทอดเจตนารมย์และต่อยอดการดำเนินงานไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อสร้างความสุข และความสนุกสนาน ที่ผสานความรู้ในด้านสุขภาวะให้เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนและชุมชน อีกทั้งยังช่วยสืบสานลิเกพื้นบ้านไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา
“เรามีการวางรากฐาน และวางแผนที่จะดำเนินงานไปอย่างต่อเนื่อง เพราะเราได้เห็นว่า ลิเกสามารถช่วยในเรื่องพัฒนาการให้กับเด็กหลายๆ ด้าน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ พวกเขาได้ออกกำลังกาย ได้ฝึกการอ่าน ได้แสดงออก ได้ความรู้ ได้คติสอนใจจากเรื่องราวที่พวกเขาเล่น พวกเขาจะได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้และติดตัวไปแม้จะออกจากโรงเรียนไปแล้ว เขาสามารถจะถ่ายทอดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อีกด้วย” ครูสุวิทย์ กล่าวสรุป.