กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--ไอแอมพีอาร์
บริเวณสะพานมิตรภาพ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่การค้าชายแดนที่มีผู้คนหลากหลายสัญชาติติดต่อค้าขายระหว่างกัน ทำให้มีการเจรจาสื่อสารกันโดยใช้ทั้งภาษาพม่า ภาษากระเหรี่ยง ภาษาไทยใหญ่ และภาษามอญ
นอกจากนี้ยังมีชาวพม่า และกะเหรี่ยงที่เข้ามาทำงานและมาอาศัยอยู่ในฝั่งไทย ใกล้ๆ กับชุมชนคนไทย และมีนักเรียนสัญชาติเมียนมาร์ เรียนอยู่ภายในโรงเรียน เช่นที่ “โรงเรียนบ้านท่าอาจ” โดยเด็กๆ และครอบครัวของผู้ใช้แรงงานชาวต่างชาติเหล่านี้ ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งเรื่องความสะอาดของร่างกาย สิ่งแวดล้อม การรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะฯลฯ ซึ่งสร้างผลกระทบไปยังชุมชนคนไทยด้วย เพราะติดขัดในปัญหาด้านการสื่อสาร
คณะครู “โรงเรียน บ้านท่าอาจ” ได้มองเห็นปัญหาเหล่านี้ จึงพยายามหาแนวทางในการจัดการเรียนการสอน ในรูปแบบ 3 ภาษา คือ “ไทย พม่า อังกฤษ” โดยสร้างสรรค์สื่อการเรียนที่สนุกสนานให้กับเด็กๆ โดยใช้ดินน้ำมันเป็นเครื่องมือสื่อสารประกอบการสอน เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้ โดยใช้รูปร่างที่ปั้นขึ้นมาเป็นสื่อกลางแทนการเรียนแบบท่องจำ เพื่อให้จดจำง่าย
และยังได้จัดทำ “โครงการสนุกกับการเรียนรู้ดินน้ำมันเพื่อพัฒนาภาษาอาเซียนและสุขภาวะที่ดี” ภายใต้โครงการ “ต่อยอดพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ด้านภาษาที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาสุขภาวะได้เป็นอย่างดี
นายสุเทพ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าอาจ กล่าวถึงที่มาของการจัดทำโครงการนี้ว่า เด็กนักเรียนที่นี่ร้อยละ 90 มีเชื้อชาติ พม่า กะเหรี่ยง และมอญ โดยมีคนไทยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ทำให้การเรียนการสอนมีปัญหามากในการสื่อสาร ทางโรงเรียนจึงหาวิธีการแก้ปัญหาให้นักเรียนเข้าใจในแต่ละภาษาได้ง่ายขึ้นโดยการนำ “ดินน้ำมัน” มาใช้เป็นสื่อการสอน มาได้ 2 ปีแล้ว
“เมื่อได้รับการสนับสนุนจาก สสค. เราก็สามารถขยายผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น สามารถนำดินน้ำมันมาทำสื่อการเรียนการสอน ที่สามารถเก็บไว้ใช้ได้หลายครั้ง โดยไม่ต้องปั้นใหม่ตลอดเวลา และยังสามารถขยายผลไปยังชุมชนได้ โดยเฉพาะชั้นประถมปีที่ 1 ถึง 3 ที่เรื่องของภาษามีความสำคัญมาก เพราะเด็กจะไม่สามารถสื่อสารได้เลย อย่างเช่นการสอนคำว่าปลา เด็กจะได้เรียนรู้ทั้งภาษาไทย พม่า ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง มอญ โดยเราใช้ดินน้ำมันเป็นสื่อที่ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน” ผอ.สุเทพระบุ
การดำเนินงานของโครงการนี้ไม่ได้ส่งผลดีเฉพาะเด็กเล็กเท่านั้น แต่ยังได้ขยายผลไปสู่นักเรียนทุกระดับชั้น โดยมีการฝึกทักษะครูจำนวน 30 คน ให้สามารถนำดินน้ำมันมาใช้เป็นสื่อการสอนให้กับเด็กตั้งแต่ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 ทั้งในโรงเรียนบ้านท่าอาจ และศูนย์การศึกษาตามแนวชายแดนจำนวน 4 ศูนย์ คือ แควเคอบอง, หนองบัวแดง, พยานดาว และอากาเป้ รวมแล้วมากกว่า 900 คน
นายปณิธาน แย้มจันทร์ฉาย ครูผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า นอกจากเด็กๆ จะสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กันและกันในเรื่องของภาษาได้แล้ว เรายังมีชั่วโมงของสุขภาวะที่นักเรียนทุกชั้นเรียน จะต้องเข้าเรียนสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงในรูปแบบ “พี่สอนน้อง” และ “เพื่อนสอนเพื่อน” โดยจะ มีรุ่นพี่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 6 สองคน รับหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ และเล่านิทาน คนหนึ่งจะใช้ภาษาไทย และอีกคนจะใช้ภาษาพม่าในการเล่าเรื่อง ผลัดกันเล่าคนละประโยค เพื่อให้น้องๆ ได้ทำความเข้าใจ โดยการใช้ฉากและตัวละครจากดินน้ำมันในการประกอบการเล่าเรื่อง
“อย่างนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่ารุ่นพี่นักเล่าเรื่องสองคนจะค่อยๆ แนะนำตัวละครในกระบะดินน้ำมันว่าสัตว์แต่ละตัวมีชื่อ ภาษาไทยและพม่าว่าอย่างไร จากนั้นก็จะอธิบายถึงเรื่องราวของกระต่ายและเต่า เริ่มต้นจากการท้าทายและแข่งขันกัน เป็นภาษาไทยสลับกับภาษาพม่า จนในที่สุดกระต่ายจะชนะหรือแพ้นักเรียนในชั้นเรียนจะช่วยกันออกความเห็น โดยใช้ความรู้เรื่องของสุขภาวะเข้ามาสอดแทรกว่ากระต่ายแพ้ เพราะอะไร เด็กๆ จะช่วยกันตอบว่าเพราะอ้วน เพราะกระต่าย รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ” ครูปณิธานกล่าวถึงรูปแบบในการสอดแทรกความรู้ด้านสุขภาวะ
โดยปัจจุบันมีนิทานและเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาวะมากกว่า 10 เรื่อง อาทิ กระต่ายกับเต่า, แม่มดน้อยผู้ไม่รักษาความสะอาด , นิทานเกี่ยวกับการแปรงฟัน ฯลฯ และในอนาคตทางโรงเรียนมีเป้าหมายที่จะต่อยอดพัฒนาให้เป็น “ห้องสื่อดินน้ำมัน” โดยเฉพาะ เมื่อคุณครูจะสอนในเรื่องอะไรก็สามารถมาหยิบไปใช้ได้เลย ไม่ต้องปั้นขึ้นใหม่ตลอดเวลาเหมือนเมื่อก่อน และมีการประสานความร่วมมือกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าสายลวด มาให้ความรู้ในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพอีกด้วย
ดญ.อรพินท์ ติ๊ตะ นักเรียนชั้น ป.5 เชื้อสายไทย-มอญ รับหน้าที่เป็นวิทยากรภาคภาษาไทยเล่าว่า “ต้องไปฝึกอ่านจนคล่องก่อนที่จะไปสอนน้องๆ หน้าห้อง ตอนแรกก็ยากเพราะยังเล่าไม่ค่อยคล่อง แต่พอพูดบ่อยๆ ก็เล่าได้ หนูยังได้รับความรู้จากคุณหมอที่มาสอน เรื่องของความสะอาด ความรู้ที่ได้รับจากครูและวิทยากรยังสามารถนำไปใช้กับครอบครัวและเพื่อนบ้านได้ด้วย”
ดญ.ดาดา จรัสเรืองรองกุล นักเรียนชั้น ป.4 เชื้อสายกระเหรี่ยง-ไทย เล่าว่าพูดได้สองภาษา คือทั้งไทยและกะเหรี่ยง และตอนนี้ยังได้เรียนภาษาอังกฤษ และภาษาพม่าเพิ่มเติมด้วย จากเมื่อก่อนจะคุยกับเพื่อนชาวพม่าไม่รู้เรื่องเลย แต่ตอนนี้เราทุกคนสามารถสื่อสารกันได้
“ที่นำไปใช้กับชุมชนก็คือเรื่องของความสะอาดที่ได้ความรู้มาจากโรงเรียนค่ะ คุณครูสอนเรื่องของการล้างช้อนให้สะอาดแทนการใช้มือ ก็นำไปบอกต่อกับเพื่อนในชุมชน” น้องดาดากล่าวอย่างภูมิใจ
การสื่อสารในเรื่องของ “สุขภาวะ” จากเด็กๆ ไปสู่ผู้ปกครองและชุมชนเริ่มเห็นผลชัดเจนมากขึ้น เมื่อหลายครอบครัวเริ่มหันมาใช้ “ช้อนกลาง” และ “ล้างมือให้สะอาด” หลังเกิดปัญหาอหิวาตกโรคระบาดในชุมชนชาวพม่าที่นิยมรับประทานอาหารด้วยมือ
“เวลาที่มีปัญหาในชุมชนเช่นการเกิดโรคระบาดต่างๆ ก็จะมาปรึกษากับโรงเรียน ให้ช่วยบอกเด็กๆ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เขาได้สื่อสารกลับไปยังครับครัว” นายสะอาด ตาคำ อาสาสมัครชุมชน ระบุ
“เรื่องของสุขภาวะเป็นโครงการทำแล้วเกิดผลดีมาก ปัญหาต่างๆ ทั้งในด้านความสะอาด และเรื่องของสุขอนามัยลดน้อยลงไปมาก เพราะชุมชนได้รับความรู้จากลูกหลาน และความรู้ยังถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง” นายสุเทพ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวสรุป.